สัมมนา สุดยอดนวัตกรรมจากไผ่ของไทย “พันธุ์ไผ่ จัดการอย่างถูกวิธี ใช้ประโยชน์ได้มาก”

ผลิตภัณฑ์ความงามจากไผ่

 

วิถีชีวิตของผู้คนในสมัยก่อนมีความผูกพันใกล้ชิดกับพืชชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า “ต้นไผ่” เพราะเป็นต้นไม้ที่มีความมหัศจรรย์จนชาวบ้านนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนกับชีวิต ตั้งแต่เป็นอาหารของคนและสัตว์ สามารถนำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้สอยในบ้าน หรือนำมาจักสานทำเป็นอาชีพหารายได้ จนกระทั่งนำไปสร้างบ้าน โรงเรือน อาคาร หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวันอาจพบเจอเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้คู่กับการกินอาหาร นั่นคือ ตะเกียบ

หลังจากนักวิจัยได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ จากไผ่ขึ้น ปรากฏว่ากระแสความนิยมไผ่กลับมาให้สนใจได้อีก อย่างล่าสุดพบว่ามีนวัตกรรมจากไผ่ทางด้านความสวยงาม หรือมีการศึกษาพบว่าไผ่สามารถนำมาทำเป็นเม็ดเชื้อเพลิงชีวมวล เนื่องจากมีราคาถูก ต้นทุนต่ำ แล้วให้ค่าพลังงานความร้อนสูง จึงเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก แล้วยังนำมาแปรรูปเป็นเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงวิทยาการที่ก้าวหน้าจนสามารถทำให้ไผ่เป็นยารักษาโรคได้

ดังนั้น มองภาพรวมจะพบว่าไผ่มีความต้องการใช้สูง แต่ขณะเดียวกันพบว่า ไผ่ที่มีอยู่ทั้งทางธรรมชาติและปลูกเองกลับมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับความต้องการ ทั้งนี้อาจมีหลายปัจจัย เช่น การแพร่ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติมีข้อจำกัด, การถูกทำลายจากภัยธรรมชาติ สัตว์ป่า, การบุกรุกของมนุษย์ เป็นต้น

กองบรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านจึงได้จัดให้มีงานสัมมนาไผ่ในหัวข้อ “สุดยอดนวัตกรรมจากไผ่ของไทย ความมหัศจรรย์ของพันธุ์ งานแปรรูป และผลิตภัณฑ์ชั้นยอดจากไผ่” ขึ้น เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม หนังสือพิมพ์ข่าวสด ย่านประชานิเวศน์ 1

wh2a9969

ในงานนี้ได้เชิญผู้รู้และเกี่ยวข้องกับไผ่ตัวจริงมาถ่ายทอดเรื่องราวที่น่าสนใจ ทั้งด้านวิชาการ ด้านการปลูก และการแปรรูป

ตลอดช่วงเวลาของการสัมมนาเกือบทั้งวัน วิทยากรทุกท่านต่างได้ถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้กันชนิดหมดตัว ทำให้ผู้ร่วมสัมมนาในคราวนั้นต่างสนใจว่าพืชอย่างไผ่มีความสำคัญต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก อีกทั้งยังมีคุณค่ามากหากนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ และต่อจากนี้เป็นเนื้อหาการบรรยายงานสัมมนาไผ่ ซึ่งท่านสามารถติดตามอ่านได้อย่างต่อเนื่องจนจบในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านเล่มนี้

แต่ก่อนที่จะเข้าสู่เวทีการสัมมนา ทางกองบรรณาธิการได้รับเกียรติจากบุคคล 2 ท่าน ที่เดินทางมาร่วมเพื่อเป็นประธานการเปิดงานในครั้งนี้

คุณสมหมาย ปาริจฉัตต์ รองประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)
คุณสมหมาย ปาริจฉัตต์ รองประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)

ท่านแรกคือ คุณสมหมาย ปาริจฉัตต์ รองประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวรายงานถึงความเป็นมาของงานสัมมนาในครั้งนี้ว่า…

สวัสดีท่านผู้มีเกียรติทุกท่านที่ได้มาร่วมงานกับเครือมติชนวันนี้ ขอกราบเรียน ท่านประพัฒน์ ปัญญาชาติรัตน์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ความจริงตำแหน่งนี้น่าจะเป็นตำแหน่งถาวรของท่าน โดยก่อนหน้านี้ท่านมีตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ พวกเราคงทราบกันบ้างแล้วแต่ผมอยากจะย้ำอีกทีหนึ่ง ตำแหน่งท่านในทางการเมืองที่ผ่านมาคือ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับอีกตำแหน่งคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

คุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรัตน์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ
คุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรัตน์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ

ฉะนั้น บทบาทท่านนอกจากทางด้านการเกษตรแล้ว ท่านยังมีบทบาทด้านการส่งเสริมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญทีเดียว ผมในฐานะตัวแทนของเจ้าภาพเครือมติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ มติชนสุดสัปดาห์ ศิลปวัฒนธรรม เทคโนโลยีชาวบ้าน และเส้นทางเศรษฐี ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นนิตยสารและหนังสือในเครือ นอกจากนี้ ยังทำรายการวิทยุเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมและรายการทีวีผ่านทางสถานีบางช่อง เช่น ว้อยซ์ทีวี

อย่างไรก็ตาม นอกจากจะทำเป็นผู้รับผลิตรายการทีวีแล้ว สิ่งที่กำลังพัฒนาให้มากขึ้นไปกว่านั้นคือ การประชุม การสัมมนา การจัดกิจกรรมวิชาการทางการเกษตร ทางเศรษฐกิจ ทางการศึกษา ทางสังคม พร้อมกับเชิญผู้ฟังมาฟังกันบ่อยๆ อยู่ตลอดเวลา ในระดับ 100-500 คน แต่สารประโยชน์ที่พูดกันไม่ได้จำกัดเพียงในห้องประชุมที่จัดเท่านั้น แต่ได้รับการถ่ายทอดออกไปผ่านเครือข่ายการสื่อสารยุคใหม่ (นิวส์ มีเดีย) ผ่านเฟซบุ๊ก ยูทูป ที่เราสามารถดูได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ไอแพด ของท่าน

ดังนั้น เราอยู่กันแค่นี้ร้อยกว่าคนเกือบสองร้อยคน แต่ผู้ที่ดูและฟังผ่านทางหน้าจอโทรศัพท์มือถืออีกเป็นจำนวนนับหมื่นๆ คนทั่วประเทศ นี่คือทิศทางที่เครือมติชนและข่าวสดกำลังใช้เวทีแบบนี้ให้เกิดประโยชน์โดยการรังสรรค์ประเทศชาติบ้านเมือง จึงเกิดประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง และรายการประเภทนี้กำลังเจริญเติบโตมากขึ้น เพราะถ้าหากท่านไม่สะดวกเดินทางมาก็สามารถรับชมได้จากสิ่งที่ทีมงานถ่ายทอดออกไปหลายกิจกรรม

เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันคนในประเทศยังให้ความสำคัญในด้านการเกษตรอยู่ถึงแม้จะประสบปัญหาบ้างก็ตาม สาขาการเกษตรมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ประมง แปรรูปสินค้าทางการเกษตร รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงเกษตรซึ่งสร้างรายได้ให้เกษตรทั้งทางตรงและทางอ้อมมาตลอด

ที่ผ่านมา นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านได้จัดสัมมนาหัวข้อทางการเกษตรขึ้นทุกปี บางปีก็จัด 2-3 ครั้ง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อ่านที่เป็นสมาชิก ที่สำคัญได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้มีประสบการณ์โดยตรงมาถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้อ่านหนังสือพิมพ์ของเรา

โดยเฉพาะในเรื่องของไผ่ถือว่ามีบทบาทต่อผู้คนในวงการอย่างกว้างขวาง เป็นพืชที่สามารถให้ประโยชน์มากมายทั้งในระดับครัวเรือน หากปลูกมากๆ ก็สามารถสร้างเศรษฐกิจได้เหมือนกัน ในระดับประเทศต้นไผ่สามารถสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับสิ่งแวดล้อม ยังเคยมีผู้ที่กล่าวกันว่า ไผ่เป็นพืชไพรไม้สร้างชาติ ที่ถือว่าเป็นเรื่องจริงที่พิสูจน์ได้

เพราะความจริงแล้วไผ่เป็นปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อครอบครัวคนไทย มีอะไรบ้าง หน่อไผ่เป็นอาหารชั้นดี มีการนำมาบริโภคตั้งแต่อยู่ในดินจนกระทั่งต้นสูงท่วมหัวยังใช้ประโยชน์ได้อยู่ ท่านที่มาจากอีสาน เหนือ น่าจะทราบดีถึงคุณสมบัตินี้ มีการใช้หน่อไผ่สีสุกมาเผาแล้วบีบเอาน้ำขมๆ มาเป็นยาแก้ไข้ โดยเฉพาะไข้ป่ามาลาเรีย คนรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ที่ไกลหมอรู้คุณค่าของไผ่สีสุกเป็นอย่างดี

หน่อและลำไผ่ซางหม่นนวลราชินี จากสวนนายแป๊ะ
หน่อและลำไผ่ซางหม่นนวลราชินี จากสวนนายแป๊ะ

สำหรับด้านการก่อสร้าง บริษัทเอกชนนำไม้ไผ่มาเข้ากระบวนการรักษาคุณภาพ จากนั้นจึงนำมาสร้างเป็นที่พัก สนนราคาแพงกว่าที่สร้างด้วยปูนซีเมนต์ด้วยซ้ำ สำหรับในส่วนเครื่องนุ่งห่มปรากฏว่าขณะนี้เยื่อไผ่สามารถนำไปทำเสื้อ ทำชุดต่างๆ ได้ ผมมีโอกาสได้ไปดูเสื้อที่ทำจากไผ่ที่เวียดนามและจีน ซึ่งนับได้ว่ามีการพัฒนาไปมากทีเดียว ส่วนในประเทศไทยคงยังก้าวหน้าต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน

งานสัมมนาในครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านมีความตั้งใจที่จะให้ข้อมูลรอบๆ ด้านแก่ผู้สัมมนา นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านได้สื่อสารโดยตรงกับผู้อ่านผ่านตัวหนังสือพร้อมกับมีกิจกรรมเสริมที่ทำอยู่เป็นประจำทุกปีคือ การจัดงาน “เกษตรมหัศจรรย์” จัดขึ้นทุกปีที่เดอะมอลล์บางกะปิ และปีนี้กำหนดจะจัดอีกครั้ง วันที่ 24-27 พฤศจิกายน ที่ห้างเดอะมอลล์บางกะปิ เช่นเดิม

จึงขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนไว้ล่วงหน้า เพราะมีพี่น้องเกษตรกรไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก มีการแจกกล้าต้นไม้มากมาย สำหรับสื่อใหม่เทคโนโลยีชาวบ้านในขณะนี้ นอกจากทำเป็นหนังสือให้อ่านแล้ว ขณะนี้กำลังพัฒนาทำเว็บไซต์ของเทคโนโลยีชาวบ้านผ่านเฟซบุ๊ก อินสตราแกรม

ในการสัมมนาครั้งนี้ ในฐานะผู้จัดในเครือมติชน คุณขรรค์ชัย บุญปาน ประธานกรรมการบริษัท ฝากขอบคุณทุกท่านที่ให้ความกรุณา ความอนุเคราะห์มาในงานนี้ โดยเฉพาะ ท่านประพัฒน์ ปัญญาชาติรัตน์ ที่เสียสละเวลามางานนี้ ขณะนี้ได้เวลาอันสมควรแล้ว ขอเรียนเชิญท่านประพัฒน์ ปัญญาชาติรัตน์ กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษในโอกาสนี้

คุณประพัฒน์  ปัญญาชาติรัตน์ ประธานสภาเกษตรกร กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ ในเรื่อง “บทบาทของไผ่ กับการสร้างชาติ”

ท่านรองประธานเครือมติชน ท่านสมหมาย ปาริจฉัตต์, ท่านบรรณาธิการเทคโนโลยีชาวบ้าน ท่านพานิชย์ ยศปัญญา, ท่านวิทยากร, ท่านผู้มีหัวใจรักไผ่ทุกท่าน ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณเครือมติชน สื่อคุณภาพซึ่งผมอ่านมาตั้งแต่เด็ก เดี๋ยวนี้ก็ยังอ่านอยู่แทบทุกฉบับ ขอบคุณที่เอาใจใส่กับกิจกรรมของเกษตรกรผม

ในนามของสภาเกษตรแห่งชาติต้องขอขอบคุณมาก และเมื่อสักครู่ที่ ท่านสมหมาย ปาริจฉัตต์ ได้กรุณาพาดพิงถึง SME เกษตร คือประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรมก่อนที่จะมีสภาพัฒน์ฯ มีแผน พวกเรามีความเป็นอยู่กันอย่างสุขสบาย ความเหลื่อมล้ำไม่มาก เกษตรกร พ่อค้าก็หากินกันไปตามเรื่องตามราว

เมื่อมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ทุกคนคาดหวังว่าจะให้ภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การเงินการธนาคาร เป็นหัวขบวนรถจักรเพื่อฉุดลากเศรษฐกิจของประเทศให้รุดหน้าไป เคยพบกับนักวิชาการเรื่องนี้สมัยเพิ่งเรียนจบปี 2516 แล้วยืนยันกับผมว่า เชื่อได้เลยว่าประเทศนี้ถ้าคนรวยมากขึ้นแล้ว คนจนก็จะหายจน ก็เชื่ออย่างนั้นจริงๆ ออกแบบเศรษฐกิจก็คือจากข้างบนลงมา

ส่งเสริมให้มี BOI ส่งเสริมการลงทุน มีบรรษัท ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรม มีแต้มต่อทุกอย่างเพื่อจะให้พ่อค้านักอุตสาหกรรมได้มีแต้มต่อในการทำงานในประเทศมากขึ้น โดยเงินในการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดมาจากภาคเกษตรทั้งสิ้น เราใช้แนวคิดนี้ในการทำแผนประเทศมาตลอดหลายสิบปี ผลปรากฏว่าคนรวยรวยขึ้นจริง รวยขึ้นมหาศาล พ่อค้าประชาชนยักษ์ใหญ่ บริษัทข้ามชาติ รวยจริงๆ แต่คนจนกลับจนลง

เพราะฉะนั้น สิ่งที่คิดกันว่า คนรวยรวยขึ้น คนจนจะหายจนจึงไม่จริง มีข้อแตกต่างกันอยู่อย่างมากก็คือ ถ้าเราคิดว่าสิ่งที่ถูกต้องควรเป็นการฟื้นจากเศรษฐกิจข้างล่าง ไม่ใช่เป็นการฟื้นจากข้างบน วิธีการฟื้นข้างล่างก็คือต้องให้เกษตรกรได้มีโอกาสเป็นผู้ประกอบการเพื่อจะพัฒนาสินค้าของเขา สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยตัวเอง ไม่ใช่แบบในอดีตจนถึงปัจจุบันคือมีรัฐบาลส่งเสริมปลูกมันสำปะหลัง ให้พ่อค้าตั้งโรงมัน ซื้อหัวมันสดมาแปรรูปเป็นมันเส้น แป้งมันส่งออก เกษตรกรเป็นเพียงผู้ผลิตวัตถุดิบเท่านั้นเอง

มีหลายประเทศสนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรแปรรูปเบื้องต้นด้วยเอง (primary processing) หรืออุตสาหกรรมต้นน้ำ เกษตรกรสามารถทำได้ เพื่อที่จะให้เศรษฐกิจไหลกลับไปถึงกระเป๋าของเกษตรกรด้วยการผลิตของตัวเอง แต่ประเทศนี้ไม่เคยส่งเสริมเรื่องนี้

ถ้าท่านได้ไปยุโรป เกษตรกรประเทศยุโรปปลูกองุ่น แล้วไม่ได้ขายองุ่นให้โรงงานเอาไปทำไวน์ แต่เกษตรกรทำกันเองทั้งหมด ทำกันในชุมชน เกษตรกรในยุโรปที่เลี้ยงวัว ไม่ได้ขายนมสด แต่ได้นำมาทำเนย ทำชีส สร้างมูลค่าเพิ่มทั้งนั้น มีแต่ประเทศนี้แหละที่ส่งเสริมให้เกษตรกรขายแต่วัตถุดิบเท่านั้น

ดังนั้น ด้วยเจตนารมณ์และคิดว่าจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วย SME เกษตร เพื่อส่งเสริมเกษตรสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าของตัวเองให้ได้เท่าที่จะทำได้ แล้วนักอุตสาหกรรมก็นำสินค้าที่แปรรูปเบื้องต้นแล้ว เอาไปพัฒนาต่อยอดให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อไป เกษตรกรเองก็จะได้มีเม็ดเงินมากขึ้น ประเทศนี้ถ้าเป็นประเทศไทยแลนด์ 4.0 ให้ได้ จะต้องทำให้เกษตรกรในประเทศนี้พึ่งตัวเองได้

มีโอกาสพบและคุยกับท่านรองนายกสมคิด ว่าถ้าเกษตรกร 20 ล้านคน เป็นหนี้สินรุงรังพึ่งตัวเองไม่ได้ อย่าคาดหวังเลยว่าประเทศนี้จะหลุดจากบ่วงกับดักเศรษฐกิจรายได้ปานกลาง ไม่มีทาง ชาติหน้าก็ทำไม่ได้ เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ยังเป็นภาระให้กับการคลังของประเทศ

แต่ถ้าเมื่อไรเกษตรกร 20 กว่าล้านคน หลุดออกจากความยากจน เกษตรกรเหล่านั้นก็จะเป็นกำลังในการผลิตของชาติ จึงเป็นแนวคิดในการทำ SME เกษตร เกษตรกรแขนงไหนที่คิดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าตัวเองให้ไปคิดเลย เกษตรกรแขนงไหนที่คิดว่าจะสร้างความหลากหลายให้สินค้าตัวเองคิดได้เลย เกษตรกรแขนงไหนที่คิดว่าจะสร้างนวัตกรรมให้กับการผลิตของตัวเองคิดเลย

ที่ ธ.ก.ส. จะมีเม็ดเงินให้ในอัตราดอกเบี้ย 4% 7 ปี นอกจากนี้ ยังมีการทำศูนย์บ่มเพาะ ถ้าเกษตรกรรายใดที่ต้องการทำแต่ขาดความรู้มีใจให้ เอาข้อมูลความรู้มาใส่ อบรมกันเลย ก็จะกระตุ้นให้เกษตรกรประเทศนี้ปรับตัวให้ได้ แล้วเชื่อมั่นได้ว่า ถ้าประเทศนี้ปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจให้เกษตรกรสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยตัวเกษตรกรเอง เศรษฐกิจประเทศนี้ก็จะเปลี่ยน ฐานรากทางสังคมจะเข้มแข็งมากขึ้น การเมืองก็จะนิ่งมากขึ้น คือสิ่งที่เราฝันไว้จริงๆ

กลับมาเรื่องไผ่ ผมบ้าไผ่มาตั้งแต่ไหนแต่ไร คุณพานิชย์ทราบดี สมัยรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรจะทำเรื่องไผ่ก็ไม่ได้เพราะไม่เคยดูแลเรื่องนโยบายของกระทรวง ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงก็ให้ผมดูแลเรื่องกรมป่าไม้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมอะไรที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องนโยบายก็ไม่ได้ทำ

เมื่อคราวที่มาอยู่กระทรวงทรัพยากรฯ ตั้งกระทรวงเสร็จใช้เวลาเป็นปี พอตอนจะเริ่มทำงานกลับถูกปลดออก กำลังจะทำนโยบายเรื่องไผ่ ที่อยากจะฝันมากเลยก็คือ อยากเห็นประเทศนี้มีศูนย์วิจัยไผ่แห่งชาติเพราะว่าภาคการเกษตรของประเทศนี้เรามีตัวเลือกอยู่น้อยมาก มีอ้อยบางปีราคาลงมามากจนเป็นภาระต้องเอางบประมาณแผ่นดินไปอุ้ม มันสำปะหลังบางปีราคาตกลงมาเหลือบาทกว่า ปีนี้ก็บาทกว่า

ข้าวโพดบ้านผมที่ลำปางปลูกมากมาย บ้างก็ 6 บาท บ้างก็ขึ้น 10 กว่าบาท มันสำปะหลังและข้าวโพดพบว่าสาเหตุที่ราคาตกต่ำเพราะว่ากระทรวงพาณิชย์นำเข้าข้าวสาลีมากเกินไป จากเคยนำเข้าเพราะมันสำปะหลังและข้าวโพดนำมาเพื่อผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ พ่อค้าที่ทำโรงงานอาหารสัตว์บอกว่ามันแล้ง ขอนำเข้าข้าวสาลีมาทดแทนข้าวโพดและมันสำปะหลังที่ขาดไป เมื่อ 2557 เคยนำเข้าสูงสุด 6 แสนตัน ราคาก็พอไปได้ แต่พอปี 2558 กระทรวงพาณิชย์อนุญาตนำเข้ามา 3 ล้าน 6 แสนตัน ปีเดียวกระโดดขึ้นเป็น 6 เท่าตัว โรงงานอาหารสัตว์เลิกซื้อมันสำปะหลังและข้าวโพดเลยเพราะนำเข้ากิโลกรัมละ 6 บาท ถูกมาก ทำให้ราคาข้าวโพดและมันสำปะหลังในประเทศนี้โงหัวไม่ขึ้น

ผมจึงทำบันทึกไปร้องเรียนนายกแล้วกำลังดูว่าท่านกำลังจะสั่งการลงมายังไง หากกระทรวงพาณิชย์ยังคงดื้อที่จะนำเข้ามามากขนาดนี้อีกในปี 2559 เป็นเรื่องแน่นอน ผมไม่ได้บอกว่าให้เกษตรกรในประเทศนี้ลุกขึ้นมาประท้วง แต่ผมเชื่อมั่นได้ว่า หากรัฐบาลบริหารประเทศแล้วทำลายเกษตรกรตัวเล็กตัวน้อย ถ้าเกษตรกรเดือดร้อนรัฐบาลจะอยู่ยาก

เรื่องนี้ก็ถือโอกาสแจ้งให้ทราบ เพราะว่าทราบว่าพ่อค้ากำลังจะวางแผนนำเข้าปี 2559 ห้าล้านตัน ประเทศนี้ใครปลูกมันสำปะหลังจังหวัดไหนก็บอกเลยว่าอย่าปลูกนะ ปลูกไปก็เจ๊งหมด เพราะรัฐบาลเอาเงินไปอุ้มเกษตรกรที่บราซิลที่ตะวันออก ยุโรปที่ไหนต่อไหน เพราะไปซื้อข้าวสาลีที่นั่น เพราะว่าเศรษฐกิจประเทศเหล่านั้นตกต่ำ

รัฐบาลไทยก็จะไปอุ้มแต่ทิ้งเกษตรกรไทยให้จน เป็นที่น่าสังเวชใจมาก เรากำลังสู้กันอยู่เรื่องนี้ กลับมาว่าพืชเศรษฐกิจในประเทศนี้มีข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน แต่ละตัวมันเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีปัญหาทั้งนั้นเลย แล้วประเทศนี้ไม่มีตัวเลือกใหม่ๆ แล้วหรือ ไม่มีเลย

ผมพยายามนำไก่ประดู่หางดำไปเลี้ยงที่ลำปาง ใหม่ๆ ไม่มีใครรู้จัก ผมไม่เลี้ยงไก่ขาว ไก่เนื้อ ไก่ไข่หรอก เพราะผมไม่อยากเป็นลูกน้องบรรษัทข้ามชาติ ความจริงแล้วต้องการทำอะไรด้วยตัวผมเอง เกษตรกรในประเทศนี้ต้องเป็นอิสระ ถ้าเกษตรกรเป็นอิสระและมีความหยิ่งผยองในตัวเองแล้ว ประเทศนี้ก็จะก้าวหน้าต่อไป

คนไทยทุกคนควรมีจิตวิญญาณเสรีแบบนี้ ประเทศนี้ก็จะเข้มแข็งได้ เราไม่อยากจะว่าใครว่าพยายามให้เกษตรกรในประเทศนี้เป็นลูกจ้างเสียหมด ถ้าเกษตรกรในประเทศนี้เป็นลูกจ้างเสียหมด ประเทศนี้จบเลย ทุกคนไม่ต้องคิด ไม่มีความคิดที่จะพัฒนาชาติยังไง ทำงานไปวันๆ

ผมคิดว่าประเทศนี้ยังมีตัวเล่นอีกหลายตัวมากที่ขาดการพัฒนา ทั้งยังพบว่าไผ่เป็นพืชตัวหนึ่งที่จะนำมาวิจัยพัฒนาต่อยอดและสร้างเศรษฐกิจได้ทุกระดับ สามารถสร้างความมั่งคั่งให้แก่ประเทศชาติได้ยิ่งใหญ่มาก ยกตัวอย่างง่ายๆ เล็กนิดเดียว แค่เพียงเรื่องถ่านไผ่ เรื่องเดียวเท่านั้น ซึ่งพี่กิตติทำธุรกิจเผาถ่านไผ่ตามสเปคของญี่ปุ่น ส่งไปขายกิโลละ 600 บาทได้ เพราะว่าถ่านที่รับซื้อไม่ได้เอาไปไว้หุงข้าว แต่นำไปทำยา

เพราะผงถ่านมีสรรพคุณทางสมุนไพร ไปดูเถอะถ่านผง ถ่านเป็นเม็ดขาย มียาหลายแขนงมากที่ใช้ถ่านไผ่ ถ่านไผ่นี้เป็นพลังงาน ใครจะคิดว่าถ่านไฟฉายทั้งหมดใช้ถ่านอัด ไปดูเถอะครับถ่านตากบถ่านอะไรไปดูข้างใน เป็นผงถ่านอัดทั้งนั้น

เมื่อคราวที่เดินทางไปภาคใต้มีคนเอายางพารามาแปรรูป อุตสาหกรรมต้นน้ำทำเป็นยางคอมปาวน์ (compound) ยางคอมปาวน์ก็คือ เอายางแผ่นเอายางแท่งมาบดกับผงถ่าน (carbon bag) แต่ผงถ่านดันไปซื้อมาจากญี่ปุ่น แล้วญี่ปุ่นก็ซื้อจากบ้านเราไปแล้วนำไปแพ็กกลับมาขายให้บ้านเรา

ทำไมจึงไม่ซื้อจากไทยผมก็ไม่เข้าใจ หรือแม้แต่ยางรถยนต์ทั้งหมดที่ใช้มีการผสมด้วยผงถ่านทั้งสิ้น อุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมหนักก็มีความจำเป็น เฉพาะถ่านเรื่องเดียว ไม่ต้องพูดถึงเรื่องอุตสาหกรรมอื่น เศรษฐกิจในครัวเรือน ไทยเป็นเขตเมืองร้อนซึ่งเป็นเมืองของไผ่ ไผ่ขึ้นเมืองหนาวไม่ได้ อาจจะกึ่งหนาวได้ เขตรอยต่อระหว่างเมืองร้อนกับเมืองหนาวอาจจะได้บ้าง แต่หนาวไม่ได้ เพราะว่าไผ่ไม่โต เรามีพันธุกรรมไผ่ในประเทศนี้จำนวนมาก มีพันธุ์ไผ่ใหม่ๆ เอาไปให้นักวิชาการไผ่ดูยังงงเลย ยังไม่สามารถระบุสายพันธุ์ได้ ต้องไปค้นดู เข้าไปในป่าในดง

คุณเพียงใจบอกว่ามีไผ่พันธุ์หนึ่งมีความยาวกว่าวา ถามนักวิชาการไผ่มันพันธุ์อะไร เขาไม่รู้เหมือนกัน ถ้าทุกครัวเรือนมีไผ่สักกอหนึ่ง อาหารหน่อไผ่ไม่ต้องไปซื้อ หน้าแล้งกิโลกรัมละ 50 บาท หน้าฝนเหลือ 10 บาท หน้าแล้งนี้ทำไม่ยากถ้ามีน้ำให้มันก็ออกหน่อทั้งปี ทำหัตถกรรมพื้นบ้าน ซ่อมบ้าน ไปดูที่ลำปางบ้านผมเวลานี้ ชาวบ้านลำปางทำจักสานกันจำนวนมาก เฟอร์นิเจอร์ไผ่มีมากมาย

มีการนำไผ่มาสร้างศาลาเล็กๆ เอามาขายริมถนนกันมาก แต่ว่าชาวบ้านและคนซื้อไปก็บอกผมว่า อยากซื้อมากแต่กลัวเป็นมอด ทุกคนกลัวมอดหมดเลย ผมบอกว่าถ้าอย่างนั้นหาผู้รู้เรื่องมอดเอาไปอบรมกันหน่อย ก็ปรากฏว่ามีพระอยู่ 2-3 รูป ที่โคราช ที่อุ้มผาง ท่านศึกษาเรื่องนี้ เอาความรู้จากนักวิชาการไปทดลองทำดู

ปรากฏว่านำไผ่แช่น้ำทินบอลหรือบอแรกซ์ กับบอริกผสมกัน 1 สัปดาห์ มอดไม่กินเลย แต่ถ้าไผ่เป็นแท่งๆ แช่ 3 วัน ก็พอแล้ว ผมก็ไปทำถังแช่เหล้าให้ชาวบ้านมาอบรมกัน ตั้งใจว่าจะเอามาอบรมสัก 30 คน ปรากฏว่า มา 120 คน อยากจะรู้มาก บอกว่าใครมีเงินออกเงิน 3,500 บาท คนไม่มีเงินฟรี คนที่เป็น แพทย์ พยาบาล วิศวกร มีเงินก็เอามาเก็บจากใต้กับอีสานก็มาช่วยกัน เอาเงินจากคนมีตังค์มาเป็นค่าอาหารให้คนไม่มีตังค์ ชาวบ้านอบรมฟรี ผมก็ต้องเอามา 120 คน เต็มเลย

รุ่นสองบอกจะมาอบรมสร้างบ้านด้วยไผ่ ไผ่มีจุดอ่อนอันเดียว คนไม่รู้เอาไปทำเฟอร์นิเจอร์สร้างบ้านแล้วเอาตะปูตอกพังหมด ไผ่ยิ่งยึดกับตะปูยิ่งหลวม คนโบราณจะใช้สลัก สลักไม้ตอก ยิ่งอยู่นานยิ่งแน่น บ้านทุกหลังต้องเจาะแล้วตอกสลักไม้ตอก ตอกตามข้อ อยู่กันได้ 50 ปี 100 ปี ถ้ามอดไม่กินอยู่ได้ตลอด

bb110-%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%b3%e0%b9%84%e0%b8%9c%e0%b9%88%e0%b9%81%e0%b8%a5%e0%b8%b0%e0%b8%ad%e0%b8%b2%e0%b8%ab%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%a7%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88

สิ่งเหล่านี้เป็นภูมิปัญญาโบราณที่เราทิ้งไป เมื่อตกลงแบบนี้ ผมจะให้ชาวบ้านที่ลำปางบ้านผมพัฒนาจากสิ่งที่ควรจะได้สร้างเฟอร์นิเจอร์จากไผ่ที่ไม่เป็นมอด สร้างสุ่มสร้างไม้ไผ่หัตถกรรมจากไผ่ที่ไม่เป็นมอด ผมเชื่อได้ว่าแบบนี้น่าสนใจและชาวบ้านได้ประโยชน์จริงๆ ขึ้นป้ายเลยว่าไผ่ที่นี่ไม่เป็นมอด คนแห่กันซื้อเต็ม รับประกันได้ ทุกคนกลัวเป็นมอดจริงๆ ก็ถ้าไปบ้านผมที่ลำปางตอนนี้บ้านทำด้วยไผ่ซางและไผ่ตงทั้งหลัง 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ มีระเบียง ราคาหลังละไม่ถึงแสน พื้นแน่นมากทุกอย่างดีหมด อยู่ได้ 40-50 ปี เพราะแช่น้ำยากันมอดหมดแล้ว ใช้ไผ่แก่แข็งแรงมาก

ที่สำคัญคือคนที่ไปอยู่ที่แบบนี้จิตใจอ่อนโยนมาก เพราะคนที่อยู่ใกล้ธรรมชาติ อ่อนโยนมาก อยู่กับคอนกรีตจิตใจจะกระด้าง เพราะฉะนั้น วันดีคืนดีก็เอาลูกไปนอนบ้าง ผมอยู่กันทั้งวัน อยู่แล้วจิตใจผมจะอ่อนโยนสังเกตดู เพราะผมอยู่กับธรรมชาติ มนุษย์ยิ่งรวย ยิ่งอยู่สูงยิ่งอยากลงดิน เศรษฐีที่ไหนก็อยากไปซื้อบ้านอยู่ปากช่อง เขาใหญ่ทั้งนั้น เพราะอยู่ใกล้ธรรมชาติ

มีเพื่อนหลายคน ผมก็บอกว่าอยากจะเอาไผ่มาทำเป็นไม้รางลิ้น ทำเป็นไม้ประสาน เพราะไผ่บางตัวมันหนา หนาพอที่จะแปรรูปทำเป็นอุตสาหกรรมก่อสร้างหนักได้ เพราะมีเทคโนโลยีการเข้าไม้รางลิ้น เข้าไม้ประสาน เอากาวอัดสามารถปูเป็นพื้น เป็นคาน เป็นตง ทำเป็นไม้ก่อสร้างได้ ซึ่งผมทราบว่าประเทศจีนไปไกลมาก

เมืองเจี้ยวเจียง เป็นเมืองแห่งไผ่ของจีน พัฒนาหมดเลย เกษตรกรปลูกไผ่แล้วนำแปรรูปพื้นฐานส่งไปให้อุตสาหกรรมหนัก ทำออกมาเป็นพื้น หลายชนิด หลายแบบจะลองไปถอดแบบมาแล้วมาลองทำที่เมืองไทยดู เพราะฉะนั้น จึงบอกว่าไผ่เป็นอุตสาหกรรมพื้นบ้าน เป็นอาหาร เป็นพืชเพื่อยังชีพ เป็นพืชเพื่ออุตสาหกรรมในครัวเรือน เพื่อที่อยู่อาศัย สุดท้ายคือเป็นยารักษาโรคจริงๆ และท้ายที่สุดก็กลายเป็นอุตสาหกรรมหนักสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้มหาศาล

สิ่งที่เราขาดคือ การเอาใจใส่ของภาครัฐเท่านั้นเอง เรื่องนี้ผมเคยคุยกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ท่านปัจจุบันกับท่านปลัดเมื่อปีที่แล้ว แต่ไม่เห็นว่าท่านขยับอะไร เราก็คิดว่าเราจะขยับกันเอง พอดีคุณพานิชย์ ยศปัญญา บรรณาธิการเทคโนโลยีชาวบ้าน ไปคุยกับผมอยู่ว่าจะจัดเวทีเรื่องไผ่ ผมก็รับเลย ทำเลย หากว่าเรื่องนี้สามารถที่จะเอามาสร้างกระแสผลักดันให้คนไทยสนใจมากขึ้น ผมเชื่อมั่นได้ว่าถ้าคนไทยสนใจมากขึ้น มีการไปลงไปทำกิจกรรมด้านไผ่มากขึ้น ท้ายที่สุดรัฐบาลไม่เอาก็ต้องเอา

แต่ทางการเมืองก็ไม่ได้ทิ้ง ถ้ามีโอกาสก็ผลักดัน คือมีนักวิชาการเรื่องไผ่ในอดีตสมัยที่ผมจบใหม่ๆ วิจัยเรื่องไผ่มาก ในคณะวนศาสตร์ ในกรมป่าไม้ แต่ว่าพอตอนวิจัยทิ้ง วิจัยขว้าง นักวิจัยเหล่านั้นเกษียณไปหมด คนที่ทำต่อก็ไม่มี เพราะวิจัยไปแล้วก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ไม่มีใครสนใจเอาไปทำต่อ แต่ถ้าว่าเราสามารถทำเป็นวิจัย ทำเป็นสถาบันวิชาไผ่แห่งชาติแบบเมืองจีน

ผมเชื่อว่านักวิจัยเหล่านี้ที่เกษียณไปแล้วก็ตาม ที่ยังไม่เกษียณก็ตาม ที่สนใจในมหาวิทยาลัยไหนก็ตาม จะได้เอาสถาบันแห่งนี้เป็นที่พักพิง เอามาเป็นบ้านสำหรับวิจัยไผ่และพัฒนาไผ่ต่อไปถึงที่สุดได้ เกษตรกรเองเวลาเจอปัญหาก็จะได้รู้ว่าจะต้องไปหาความรู้จากที่ไหน ไม่ใช่เวลานี้เจอปัญหาเรื่องไผ่ ไปถามทางเกษตร กระทรวงเกษตรบอกเป็นงานกระทรวงทรัพยากรฯ ไปถามกระทรวงทรัพยากรฯ ก็บอกเป็นงานของกระทรวงเกษตร

เพราะว่าความจริงไผ่ต้องดูกันทั้งสองกระทรวง ไม่รู้ว่าใครรับผิดชอบกันแน่ ก็เลยคิดว่าถ้าเราสามารถผลักดันตรงนี้ได้ ก็จะผลักดันต่อไป แต่เวลานี้ก่อนที่จะผลักดัน ผมก็คิดว่าจะตั้งเกษตรกรผู้ปลูกไผ่ขึ้นมาก่อน เพื่อจะเป็นเจ้าภาพผลักดันเรื่องต่างๆ เหล่านี้ให้เป็นรูปธรรมเชิงนโยบาย หากว่ามีกิจกรรมอะไรที่เราต้องร่วมกับภาคราชการ ก็จะเอาสมาคมไปร่วมด้วย

เวลานี้นานาชาติจะมีการประชุมไผ่โลกปีละครั้ง (INBAR : International Bamboo Association) แล้วใครจะไปเชื่อว่าโลกนี้มีความร่วมมือระดับชาติเรื่องไผ่ ทุกประเทศจะมีองค์กรไผ่มาร่วมกันเป็นสมาคมไผ่โลก ยกเว้นประเทศไทยไม่มี ก็ไม่เป็นไรอยู่ในประเทศนี้จะดีร้ายยังไงก็เป็นคนไทย ยังคงรักประเทศนี้อยู่หากว่ามีอะไรที่ทำให้มันดีขึ้นก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือ เผื่อว่าเราก็จะได้ใช้ประโยชน์

ถ้าเราใช้ไม่ทันไม่เป็นไร สร้างทางไว้ให้ลูกหลานจะได้ใช้ต่อได้ ลูกหลานจะได้มีอะไรประกอบอาชีพ จะได้ไม่ต้องลำบากเหมือนพ่อแม่ จะได้มีทางเลือกมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ก็คงจะขอขอบคุณโดยเฉพาะเครือมติชน พี่ช้าง ขรรค์ชัย ที่ไม่ทอดทิ้งเกษตรกร ที่ยังคงเกาะติดกับเกษตรกรอยู่ ขอบคุณผู้ที่สนใจเรื่องไผ่ วิทยากรทุกท่านที่อาสามาบรรยายในวันนี้ เดี๋ยววิทยากรท่านอื่นคงได้มีอะไรมาบรรยายมาให้ท่านฟังได้ ขอขอบพระคุณ…