แนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับข้าว

                เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นครั้งแรก โอกาสเดียวกันนี้ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานีทดลองข้าวพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ทอดพระเนตรกิจกรรมภายในสถานีด้วยความสนพระทัย พร้อมทั้งได้พระราชทานแนวพระราชดำริต่างๆ ให้กับข้าราชการของสถานีทดลองข้าวพิมายด้วย

ในปี พ.ศ. 2504 ได้มีการจัดตั้งโครงการหลวงจิตรลดาขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้กรมกสิกรรม ไปปลูกข้าวในแปลงนาทดลอง ภายในพระราชวังสวนจิตรลดา เพื่อผลิตข้าวพันธุ์ดีใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และแจกจ่ายเกษตรกรภายหลังพระราชพิธี ซึ่งการปลูกข้าวในแปลงนาทดลองสวนจิตรลดานั้น ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมสถานีทดลองข้าวสันป่าตอง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นแปลงทดลองได้มีพระราชกระแสรับสั่งว่า “ในอนาคตข้าวไร่บนที่สูงจะมีความสำคัญ เพราะไม่ต้องการน้ำมาก ใช้เพียงน้ำฝนก็เพียงพอ ควรจะมีการปลูกข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ เพื่อเป็นรายได้ให้กับชาวไทยภูเขา”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทอดพระเนตรงานวิจัยการปลูกพืชชนิดต่างๆ ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะพืชที่สามารถปลูกได้ในสภาพภูมิอากาศที่ใกล้เคียงกันในพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยของชาวไทยภูเขา ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2522 จึงได้พระราชทานพื้นที่ของสถานีเกษตรหลวงสะเมิงซึ่งอยู่บนพื้นที่สูง ในเขตอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ให้กับกรมวิชาการเกษตร เพื่อจัดตั้งเป็นสถานีทดลองข้าวไร่ โดยเฉพาะข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต รวมทั้งพืชเมืองหนาวอื่นๆ ซึ่งต่อมาได้ตั้งชื่อสถานีทดลองนี้ว่า “สถานีทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาวสะเมิง”

ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง สถานีทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาวขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้ชื่อว่า “สถานีทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาวปางมะผ้า” ทั้ง 2 สถานี สังกัดอยู่ภายใต้กรมวิชาการเกษตร

สามารถที่จะจำแนกพันธุ์ข้าวตามแนวพระราชดำริได้ ดังนี้

17

ข้าวไร่…เป็นข้าวที่เหมาะสำหรับปลูกในนาข้าวที่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก โดยเฉพาะในพื้นที่เนิน หรือบนภูเขา เป็นข้าวที่ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี ต้องการน้ำน้อย สามารถเจริญเติบโตได้แม้ฝนจะน้อย แบ่งออกเป็น

ข้าวไร่สำหรับพื้นที่สูง เป็นพันธุ์ข้าวที่สามารถนำไปปลูกได้ในโครงการเกษตรที่สูงทางภาคเหนือ ในเขตอาศัยของชาวไทยภูเขา ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลอย่างน้อย 700 เมตร ขึ้นไป พันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง ได้แก่ เจ้าฮ่อ เกาเกา และเบลโซ

ข้าวไร่สำหรับพื้นที่ต่ำ เป็นพันธุ์ข้าวที่เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ที่ต่ำกว่า 700 เมตร จากระดับน้ำทะเล หรือปลูกในพื้นที่ไร่บนที่สูง ซึ่งดินไม่อุ้มน้ำ เช่น ที่ราบลุ่มริมแม่โขง บริเวณอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ราบลุ่มแม่โจน จังหวัดนครนายก ที่ลาดเชิงเขาในจังหวัดปราจีนบุรี หรือบริเวณที่สูงในภาคใต้ พันธุ์ข้าวไร่ที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ ซิวแม่จัน ดอกพะยอม กู้เมืองหลวง เป็นต้น

ข้าวที่ลุ่ม เป็นพันธุ์ข้าวที่ปลูกได้ในพื้นที่ราบหุบเขา สูงจากระดับน้ำทะเล 750-900 เมตร เป็นพื้นที่ที่มีน้ำมาก เป็นพันธุ์ข้าวที่ชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง และม้ง นิยมปลูกมาก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแนะนำให้ปลูกพันธุ์นาป่าแป่ เป็นต้น

 

ทรงแก้ปัญหาการปลูกข้าว ที่อ่าวลึก

โครงการสหกรณ์อ่าวลึก จังหวัดกระบี่ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ดำเนินการปลูกปาล์มน้ำมัน ซื้อและขายผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน ซึ่งในอดีตพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่นาข้าว ประมาณ 2,000 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง โดยทำนาเพียงปีละครั้ง ได้ผลผลิตเพียง 25 ถัง ต่อไร่ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวขาดแคลนน้ำติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี กลายเป็นดินทราย เกษตรกรทำนาไม่ได้ต้องซื้อข้าวบริโภค

เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2530 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่ และเกษตรกรที่ร่วมโครงการสหกรณ์อ่าวลึก เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส เพื่อกราบบังคมทูลรายงานความก้าวหน้าของโครงการปลูกปาล์มน้ำมัน ในครั้งนั้นได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้เกษตรกรปลูกข้าวไว้บริโภคเองภายในครัวเรือน โดยทรงมอบหมายให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาพัฒนาการปลูกข้าวในพื้นที่ของโครงการ ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงและสถานีทดลองข้าวกระบี่ ในสังกัดกรมวิชาการเกษตร จึงได้สนองพระราชดำริโดยการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งเทคโนโลยีการปลูก การเก็บเกี่ยว การใช้เครื่องจักรกลเกษตร การใช้เครื่องอบลดความชื้น เครื่องสีข้าวขนาดเล็ก และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแบบครบวงจร ผลการศึกษาวิจัยในครั้งนั้นปรากฏว่าได้พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่

ข้าวที่มีอายุการเก็บเกี่ยวช้า เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง ได้แก่ กข 13 นางพญา 132 แก่นจันทร์ ลูกแดง เผือกน้ำ และเล็บนก

ข้าวที่มีอายุการเก็บเกี่ยวเร็ว เป็นพันธุ์ที่อายุสั้น ต้องการน้ำในช่วงเวลาสั้นๆ เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ เช่น พันธุ์เหลือง 152 ขาวเบตง เป็นต้น

พันธุ์ข้าวไร่ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ปลูกร่วมกับสวนปาล์ม อายุ 1-2 ปีได้ พันธุ์ที่เหมาะสมคือ พันธุ์กู้เมืองหลวง กะเหรี่ยง ดอกไม้ทราย เป็นต้น

นอกจากนี้ ในการทดลองดังกล่าวยังพบด้วยว่า ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นพันธุ์ที่เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ที่ฝนไม่สม่ำเสมอ ทั้งนี้ ต่อมาในพื้นที่โครงการสหกรณ์อ่าวลึก ได้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองย่าขึ้น ทำให้สามารถปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง ผลผลิตเฉลี่ย 50 ถัง ต่อไร่

 

ปัญหานาข้าว ที่อยุธยา

เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร ที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทรงได้รับทราบว่า เกษตรกรเจ้าของนาข้าวที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ฝนแล้ง หนูนา และแมลงศัตรูพืชระบาด เมื่อปี พ.ศ. 2521 ได้อพยพไปขายแรงงานอยู่ที่อื่น ปล่อยให้นาข้าวรกร้างว่างเปล่าเกือบ 2 แสนไร่ ในเขตอำเภอบางไทร บางบาล เสนา บางปะอิน และลาดบัวหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงมอบหมายให้โครงการพัฒนาการเกษตรแบบประณีต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้าไปดำเนินการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร โดยมีวัตถุประสงค์คือ แนะนำให้ปลูกข้าวพันธุ์ดีของทางราชการที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ความรู้แก่เกษตรกรในการทำการเกษตรสมัยใหม่ และส่งเสริมอาชีพเพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร

กรมวิชาการเกษตร ได้เข้าไปทำการศึกษาหาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ดังกล่าว จำนวน 40 พันธุ์ ระหว่างปี พ.ศ. 2526-2530 พบว่า มีพันธุ์ข้าวที่เหมาะสม ได้แก่ ปิ่นแก้ว ขาวราชินี พานทอง ขาวตาแห้ง เป็นต้น พันธุ์ข้าวเหล่านี้ให้ผลผลิตที่มากกว่าเดิมเท่าตัว ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น