พระมหากษัตริย์ กับการพัฒนาข้าวไทย

ข้าว เป็นธัญพืชที่คงความสำคัญต่อมวลมนุษยชาติมาช้านานแล้ว ไทยเราเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ พร้อมกันก็มีการพัฒนาจนเป็นหนึ่งของโลกในด้านนี้

นอกจากความร่วมมือของวงการข้าวเมืองไทยแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์คือแรงกระตุ้นให้ข้าวไทยขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ก้าวหน้า สิ่งที่เกิดขึ้นได้ซึมซับและอยู่ในหัวใจของคนไทยเสมอมา

ในคำนำของหนังสือ “30 ปี นาข้าวทดลองในสวนจิตรลดา” บอกไว้ว่า ในปีพุทธศักราช 2504 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้กรมการข้าว (เดิม) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำพันธุ์ข้าวต่างๆ มาปลูกทดลองในบริเวณสวนจิตรลดา และต่อมามีพระราชดำรัสพระราชทานแก่ผู้นำกลุ่มชาวนาว่า

“ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาและทดลองทำนามาบ้าง และทราบดีว่าการทำนานั้นมีความยากลำบากเป็นอุปสรรคอยู่มิใช่น้อย จำเป็นต้องอาศัยพันธุ์ข้าวที่ดี และต้องใช้วิชาการต่างๆ ด้วยจึงจะได้ผลเป็นล่ำเป็นสัน อีกประการหนึ่ง ที่นานั้นเมื่อสิ้นฤดูทำนาแล้ว ควรจะปลูกพืชอื่นๆ บ้าง เพราะจะเพิ่มรายได้ให้อีกไม่น้อย ทั้งจะช่วยให้ดินร่วน ช่วยเพิ่มปุ๋ยกากพืช ทำให้ลักษณะเนื้อดินดีขึ้น เหมาะสำหรับจะทำนาในฤดูต่อไป”

ถึงแม้เวลาจะร่วงเลยมานานแล้ว นาข้าวทดลองในสวนจิตรลดาก็ยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันแนวการทดลองได้ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

งานเริ่มแรกใน ปี 2504 กรมการข้าว ได้ปลูกข้าวพันธุ์ต่างๆ ในนาทดลอง และมี ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล นำควายเหล็ก หรือรถไถแบบ 4 ล้อ ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 8.5 แรงม้า สำหรับเตรียมดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำแนะนำในการปรับปรุงควายเหล็กให้ได้รูปแบบที่ดี เหมาะสมกับการใช้งานและผลิตได้ในประเทศไทย ซึ่งในตอนนั้นพระองค์ท่านทรงขับรถไถนา ควายเหล็กเพื่อเตรียมแปลงปลูกข้าว ตลอดทั้งทรงหว่านข้าวและทรงเกี่ยวข้าวด้วยพระองค์เอง

ผลผลิตข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ในแต่ละปีจะเผยแพร่ออกสู่เกษตรกร ในวันงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีสองพิธีรวมกัน คือพระราชพิธีพืชมงคลอันเป็นพิธีสงฆ์อย่างหนึ่ง กับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีพราหมณ์อีกอย่างหนึ่ง พระราชพิธีพืชมงคลจะประกอบพิธีก่อนในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจะประกอบพิธีในวันรุ่งขึ้น ที่บริเวณท้องสนามหลวง

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เรียกอย่างสั้นๆ ว่า พิธีแรกนา เป็นพิธีมีมาแต่โบราณกาล ตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ส่วนพระราชพิธีพืชมงคลเพิ่งมีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงโปรดฯ ให้จัดพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคลจึงได้เริ่มขึ้นแต่บัดนั้น โดยรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แต่ได้ประกอบพิธีนั้นก่อนพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 1 วัน เป็นพิธีต่อเนื่องกัน 2 วัน                 13

ความมุ่งหมายอันเป็นมูลเหตุของพระราชพิธีนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์ เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน ว่า

“การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมาแต่โบราณ เช่น ในเมืองจีนเขามีมาสี่พันปีแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงลงไถนาเองเป็นคราแรก พระมเหสีเลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยามนี้ ที่มีปรากฏอยู่ในการแรกนานี้ ก็มีอยู่เสมอเป็นนิตย์ ไม่มีเวลาเว้นว่าง ด้วยการซึ่งผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเองเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎรชักนำให้มีใจหมั่นในการที่จะทำนา เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้เลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่นและความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง แต่การซึ่งมีพิธีเจือปนต่างๆ ไม่เป็นแต่ลงมือไถนาเป็นตัวอย่าง เหมือนอย่างชาวนาทั้งปวงลงมือไถนาของตนตามปกติ ก็ด้วยความหวาดหวั่นต่ออันตราย คือ น้ำฝนน้ำท่ามากไปน้อยไป ด้วง เพลี้ย และสัตว์ต่างๆ จะบังเกิดเป็นอันตราย ไม่ให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิเป็นกำลัง จึงต้องหาทางที่จะแก้ไขและเสี่ยงทายให้รู้ล่วงหน้า จะได้เป็นที่มั่นอกมั่นใจ โดยอาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ซึ่งไม่มีโทษ นับว่าเป็นการสวัสดิมงคล ตามซึ่งมาในพุทธศาสนาบ้าง บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง”

การจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้กระทำเต็มตามรูปบูรพประเพณีครั้งสุดท้าย ในปี 2479 แล้วก็ว่างเว้นไป จนลุถึงปี 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชประเพณีนี้ขึ้นใหม่ และได้กระทำติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน ด้วยเห็นว่าเป็นการรักษาพระราชประเพณีอันดีงาม มีผลในการบำรุงขวัญและจิตใจของประชาชนทั้งยังให้ชาวต่างประเทศได้เห็นวัฒนธรรมและประเพณีของคนไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสให้ปรับปรุงพิธีการบางอย่างให้เหมาะสมกับยุคสมัย และเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพระราชประเพณีนี้สืบมามิได้ขาด

นอกจากพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแล้ว ยังมีพิธีมงคลอีกอย่างหนึ่งคือ พิธีทำขวัญข้าว หรือขวัญแม่โพสพ

พิธีจะมีขึ้น ณ แปลงนาทดลอง ขณะที่ต้นข้าวกำลังตั้งท้อง เพื่อรอวันจะออกรวง ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามประเพณีโบราณ ซึ่งชาวนาจะจัดพิธีทำขวัญข้าว มีการตั้งศาลแม่โพสพ ปักฉัตร 9 ชั้น ทำด้วยรวงข้าว ปักธงสีต่างๆ รอบแปลงนาข้าว ตลอดจนมีการแต่งบทร้องทำขวัญแม่โพสพ และจัดเครื่องหอมสำหรับแม่โพสพให้พร้อม มีการอาบน้ำตัดแต่งผม (ใบข้าว) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นอุบายอย่างหนึ่งของชาวนา เมื่อข้าวกำลังจะออกรวงก็ให้เตรียมปักธงสีต่างๆ ไว้กันนกลงกินข้าวในนา การตัดแต่งใบข้าวก็เป็นอุบายที่ว่าเมื่อต้นข้าวเจริญงอกงามแตกใบมากเกินไป เกิดอาการ เรียกว่า “เฝือใบ” ก็ให้ตัดออกให้ควายกินบ้าง เพื่อไม่ให้ต้นข้าวสูง และล้มพับ เป็นเหตุให้เมล็ดลีบ ผลผลิตลดน้อยลง เข้าหลักวิชาการสมัยใหม่เรื่องการตัดแต่งกิ่ง แทนที่ชาวนาจะตัดต้นใหญ่แต่ตัดใบข้าวแทน

ระบบนาทดลอง นายไพบูลย์ ตราชู อดีตอำนวยการสถานีวิจัยข้าวบางเขน สถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร พร้อมทั้งข้าราชการและลูกจ้างของกรมเข้าไปสานงานอย่างสืบเนื่อง

ปัจจุบัน การปฏิบัติงานภายในรอบปีที่นาข้าวทดลองสวนจิตรลดา ได้ปลูกข้าวนาสวนและข้าวไร่ในฤดูฝน หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วในช่วงฤดูแล้งได้ปลูกพืชตระกูลถั่วหมุนเวียนในนาข้าว

                      การทำนาสวน

เป็นการปลูกข้าวแบบตกกล้าปักดำเป็นแถวในสภาพที่มีน้ำขัง เนื้อที่ประมาณ 3.6 ไร่ มีข้าวพันธุ์หลัก 8 พันธุ์ ซึ่งเป็นพันธุ์มาตรฐานที่ส่งเสริมให้ชาวนาปลูกในภาคต่างๆ ของประเทศ มีแปลงสาธิตแสดงพันธุ์ข้าวของรัฐบาล 48 พันธุ์ และเพื่อส่งเสริมการศึกษาทางภาคปฏิบัติเรื่องการปลูกข้าวในฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงของการปลูกข้าวนาปีนั้น ทางโครงการนาทดลองยังได้จัดแปลงนาพิเศษ สำหรับปลูกข้าวดำนาแก่นักเรียนโรงเรียนจิตรลดาเป็นประจำทุกปีการศึกษาอีกด้ว

                       การปลูกข้าวไร่

เป็นการปลูกข้าวแบบใช้เมล็ดหยอดในหลุมให้เป็นแถวเป็นแนว บนที่ดอนในสภาพที่น้ำไม่ท่วมขัง เนื้อที่ประมาณ 1.2 ไร่ หลังจากหยอดเมล็ดแล้ว ส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก พันธุ์ข้าวไร่ที่ปลูกมีทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้า เป็นข้าวพันธุ์ดีส่งเสริมให้ปลูกในแหล่งต่างๆ ของประเทศที่มีการปลูกข้าวไร่ ตลอดจนข้าวไร่เพื่อคนไทยในที่สูง (ชาวไทยภูเขา)

แปลงนาทดลองอาศัยน้ำจากแหล่งน้ำที่มีอยู่บริเวณรอบๆ นา ยามหน้านาจะเห็นทุ่งข้าวเขียวสวยขึ้นอย่างเป็นระเบียบ บริเวณนามีต้นไม้ขึ้นอยู่ล้อมรอบ เป็นที่อาศัยของนกกา เหตุที่นกกามีอยู่มากนั้นก็เพราะเป็นที่ปลอดภัย ดังนั้น เมื่อข้าวออกรวงและแก่เก็บเกี่ยวได้ นกเป็นศัตรูสำคัญอย่างหนึ่ง

ในแปลงข้าวไร่ จะเห็นป้ายบอกชื่อข้าวแปลกๆ ไม่คุ้นตา ซึ่งพันธุ์ข้าวเหล่านั้นมีสืบทอดมาช้านาน และเป็นพันธุกรรมชั้นยอดที่ควรแก่การเก็บรักษา รวมทั้งขยายเผยแพร่สู่วงกว้างเพื่อความหลากหลาย

                      ปลูกพืชหมุนเวียน

พืชหมุนเวียนที่ปลูกเพื่อการปรับปรุงบำรุงดินนั้น เป็นพืชตระกูลถั่วชนิดต่างๆ เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง เป็นต้น

พืชหมุนเวียนจะปลูกในฤดูแล้ง ซึ่งก็ผ่านการเก็บเกี่ยวไปแล้ว พืชหลังนาช่วยให้นาข้าวทดลองอุดมสมบูรณ์อยู่นานปี เพราะผืนดินได้ดูดซับธาตุที่เป็นประโยชน์เอาไว้

พันธุ์ถั่วก็เช่นเดียวกับพันธุ์ข้าว ที่จัดเป็น “พันธุ์ถั่วพระราชทาน” แจกจ่ายให้แก่พสกนิกรและเกษตรกรทั่วประเทศ

                      ดินดีขึ้น

                      จากการเก็บดินในนาทดลองมาวิเคราะห์ ในปี 2535 (ครบ 30 ปี ของการทำนา) ซึ่งดินนาอยู่ในสภาพน้ำขัง ในฤดูทำนาและปลูกพืชตระกูลถั่วในฤดูแล้งหลังการทำนา ค่าเฉลี่ยของดินสรุปได้ว่า การปลูกพืชตระกูลถั่วสลับกับข้าว เมื่อมีการจัดการดินที่ดีแล้ว ดินจะมีความเป็นกรด เป็นด่าง เพิ่มขึ้นจนเกือบจะเป็นกลาง คือมีความเป็นกรด เป็นด่าง 6.3-6.9 และอินทรียวัตถุในดินเพิ่มขึ้น

เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน การเพิ่มอินทรียวัตถุในดินจะมีไม่มากนัก เนื่องจากอุณหภูมิในดินสูงในเขตอบอุ่น การสลายตัวของอินทรียวัตถุที่มีอยู่ในดินจะเป็นอย่างรวดเร็ว แต่การสะสมของธาตุอาหารพืช โดยเฉพาะธาตุอาหารพืชฟอสฟอรัส ไม่ว่าจะเป็นฟอสฟอรัสทั้งหมด และฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ในดินจะสูงขึ้น โดยทั่วไปแล้วจะเพียงพอกับความต้องการของข้าวและพืชที่ปลูกหลังฤดูกาลทำนา เช่นเดียวกับโพแทสเซียมจะมีมากขึ้น เป็นวิทยาการที่น่าสนใจจริงๆ

นาข้าวทดลองในสวนจิตรลดา นับเป็นแปลงนาที่สมบูรณ์แบบและครบวงจร เริ่มต้นตั้งแต่เรื่องของสายพันธุ์ แปลงนาทดลองมีสายพันธุ์ข้าวทั้งเก่าและใหม่ที่เด่นชัดทางด้านพันธุกรรม ผ่านจากเรื่องพันธุ์มีการจัดการแปลงนา โดยเฉพาะระบบปลูกพืชหมุนเวียน (ส่วนนี้ชาวนาไทยยังขาดอยู่อย่างมหาศาล) ข้าวที่ได้เหลือจากการทำพันธุ์จะส่งเข้าโรงสี แปรรูปเป็นข้าวขายในร้านค้าโครงการส่วนพระองค์ สิ่งที่เหลือจากนาข้าวมีประโยชน์ทั้งนั้น เริ่มจากแกลบ มีโรงงานทำเชื้อเพลิงแข็งรองรับ ฟางข้าวใช้ประโยชน์ได้อย่างดี เพราะนำไปเป็นอาหารของโคนมซึ่งเลี้ยงอยู่จำนวนไม่น้อย

ฟางข้าว ที่เป็นตอซังได้รับการไถกลบก่อนที่จะมีการปลูกถั่ว ช่วยปรับโครงสร้างที่ดีให้กับดิน

แปลงนาสวนจิตรลดามีมาต่อเนื่องและยังคงมีต่อไป สิ่งที่ดำรงอยู่เป็นแบบอย่างอันประเสริฐที่เชื่อมประสานเป็นความผูกพันชิดใกล้มากที่สุด ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนผู้เป็นพสกนิกรของพระองค์ และการปลูกข้าว ทำนา วัฒนธรรม ชีวิตที่อยู่คู่ชาวสยามมายาวนานและจะคงยืนยงสืบไป

                        ปรากฏการณ์เช่นนี้จะไม่มีเกิดขึ้นในประเทศอื่นใดทั้งโลก นอกจากในประเทศไทย