ไร่ บี.เอ็น. กับงานพัฒนาลิ้นจี่ พันธุ์ “ป้าชิด 2”

เมื่อพูดถึงการผลิตลิ้นจี่ของหลายประเทศทั่วโลก จะต้องยอมรับกันว่าประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ถือเป็นต้นแบบของการผลิต และเป็นแหล่งรวบรวมสายพันธุ์ลิ้นจี่คุณภาพดี พันธุ์ลิ้นจี่ของไทยเกือบทุกพันธุ์ล้วนแต่มีรากเหง้าหรือนำสายพันธุ์มาจากจีนทั้งสิ้น ดังนั้น อาจจะกล่าวได้ว่า พันธุ์ลิ้นจี่ดีที่สุดในปัจจุบันนี้ อยู่ที่ ประเทศจีน

ตัวผู้เขียนได้มีโอกาสไปดูงานการปลูกลิ้นจี่ในเขตพื้นที่ตอนใต้ของจีน โดยเฉพาะที่มณฑลกวางตุ้งเมื่อหลายปีที่ผ่านมาได้พบเห็นถึงสภาพพื้นที่ปลูกลิ้นจี่จำนวนมหาศาล บางพื้นที่ปลูกกันเต็มภูเขาและที่สำคัญก็คือ ผู้นำประเทศเขาให้ความสำคัญของการปลูกลิ้นจี่เพื่อพัฒนาเป็นไม้ผลส่งออกและดูเหมือนว่าจะเน้นในเรื่องของการผลิตลิ้นจี่แบบปลอดสารพิษด้วย, สภาพพื้นที่ปลูกลิ้นจี่ได้เห็นทั้งสภาพปลูกแบบชาวบ้านจนถึงสภาพแปลงปลูกแบบวิชาการในสถานีทดลองและวิจัยซึ่งมีความก้าวหน้าไปมากทั้งทางด้านสายพันธุ์และระบบการปลูก เพียงแต่งานศึกษาและวิจัยยังเผยแพร่ไปถึงเกษตรกรจีนบางส่วนเท่านั้น แต่ในด้านสายพันธุ์แล้วใครได้รับประทานลิ้นจี่ของจีนแล้ว ต้องยอมรับในรสชาติและความอร่อย

ลิ้นจี่ เป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่ง ที่เมื่อมองด้วยความเป็นกลางและภาพรวมแล้ว คุณภาพผลผลิตของไทยยังสู้ของจีนไม่ได้ ก่อนหน้านี้ ลิ้นจี่พันธุ์สนมยิ้มจากจีน มีการส่งนำเข้ามาขายในประเทศไทยในราคากิโลกรัมไม่ต่ำกว่า 500 บาท ยังมีคนไทยส่วนหนึ่งซื้อมาบริโภคและซื้อเป็นของฝากเพราะมีรสชาติอร่อย และเมล็ดลีบ ในทางวิชาการได้กำหนดถึงพันธุ์ลิ้นจี่ที่มีคุณภาพดีนั้นจะต้องประกอบไปด้วย “รสชาติหวาน (ลิ้นจี่บ้านเราส่วนใหญ่อมเปรี้ยว), เนื้อกรอบและเมล็ดลีบ” ซึ่งเมื่อมองเปรียบเทียบกับ

สายพันธุ์ลิ้นจี่ที่ปลูกในเชิงพาณิชย์ของไทยแล้ว ยังไม่มีคุณสมบัติทั้ง 3 ประการ ดังที่กล่าวมา

สายพันธุ์ลิ้นจี่ที่เกษตรกรไทยปลูกกันมากในขณะนี้มีเพียง 2 สายพันธุ์หลัก ก็คือ พันธุ์โฮงฮวย และพันธุ์จักรพรรดิ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกมากใน จ.เชียงราย เชียงใหม่ ที่มีอากาศหนาวเย็น นอกจากนั้น จ.สมุทรสงคราม ยังมีพื้นที่ปลูกลิ้นจี่พันธุ์เบา อาทิ พันธุ์ค่อม พันธุ์สำเภาแก้ว เป็นต้น ขณะที่ จ.เพชรบูรณ์ ในเขตพื้นที่ อ.เขาค้อ โดยเฉพาะที่ไร่ บี.เอ็น. มีพื้นที่ปลูกลิ้นจี่เป็นจำนวนมาก และมีการพัฒนาสายพันธุ์ลิ้นจี่อย่างต่อเนื่อง

สำหรับสายพันธุ์ลิ้นจี่ ที่พัฒนาพันธุ์ด้วยฝีมือคนไทย เห็นจะมีเพียงพันธุ์ “ป้าชิด 2” เท่านั้น ที่พอจะนำไปแข่งขันกับจีนได้ เป็นที่ทราบกันว่า ลิ้นจี่ พันธุ์ “ป้าชิด 2” นี้ พัฒนาพันธุ์โดย คุณบรรเจิด คุ้นวงศ์ เจ้าของไร่ บี.เอ็น. ต.แคมป์สน อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ โทร. 081-973-8552 ซึ่งมีพื้นที่ปลูกลิ้นจี่มากที่สุดรายหนึ่งของไทย และใช้เวลานานนับ 10 ปี กว่าจะได้ลิ้นจี่พันธุ์ “ป้าชิด 2”

จากการกลายพันธุ์ด้วยเมล็ดของลิ้นจี่พันธุ์จักรพรรดิ ที่ไร่ บี.เอ็น. ได้เริ่มขยายพื้นที่ปลูกลิ้นจี่ พันธุ์ “ป้าชิด 2” มากขึ้น และเป็นที่ยอมรับในปัจจุบันว่า ลิ้นจี่ พันธุ์ “ป้าชิด 2” เป็นลิ้นจี่ที่มีรสชาติหวานอร่อยมาก อร่อยไม่แพ้พันธุ์สนมยิ้มของจีน และไร่ บี.เอ็น.ได้ส่งลิ้นจี่ พันธุ์ “ป้าชิด2” ที่มีเมล็ดลีบที่ห้างเดอะมอลล์ เอ็มโพเรียม และสยามพารากอน ได้รับการตอบรับดีมาก และผู้บริโภคต่างก็ยอมรับว่าอร่อยไม่แพ้ลิ้นจี่พันธุ์สนมยิ้มจากจีน

ปัจจุบัน คุณจุลพงษ์ คุ้นวงศ์ ผู้จัดการไร่ บี.เอ็น. ได้เร่งขยายพื้นที่ปลูกลิ้นจี่พันธุ์นี้เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก โดยเชื่อมั่นในเรื่องของการตลาด แต่ในเรื่องของระบบการปลูกได้มีการจัดระบบการปลูกเสียใหม่ พยายามทำให้ลิ้นจี่ต้นเตี้ย และจัดเรื่องระบบการระบายน้ำที่ดี

สำหรับสวนลิ้นจี่เก่าที่มีอายุต้นหลายสิบปี คุณจุลพงษ์ได้ประยุกต์วิธีการตัดแต่งกิ่งจากพ่อหลวงมนัส เกียรติวัฒน์ ซึ่งจัดเป็นเกษตรกรที่มีความเชี่ยวชาญลิ้นจี่คนหนึ่งของเมืองไทย โดยมีการตัดแต่งกิ่งอย่างหนักหลังจากที่เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จในแต่ละปี กิ่งที่ความสูงเกิน 3 เมตร จะตัดออกทั้งหมดเมื่อถึงฤดูกาลออกดอกและติดผล ปรากฏว่าต้นลิ้นจี่ให้ผลผลิตดีขึ้นและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ง่ายขึ้น

เทคโนโลยีในการปลูกลิ้นจี่ของไร่ บี.เอ็น.

คุณจุลพงษ์ คุ้นวงศ์ ได้ให้รายละเอียดว่า ในส่วนของต้นลิ้นจี่ที่มีอยู่เดิมได้มีการจัดการสวนแบบใหม่โดยเน้นในเรื่องของการตัดแต่งกิ่งเป็นสำคัญโดยยึดหลักว่าเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตในแต่ละปีเสร็จสิ้นแล้วจะต้องรีบตัดแต่งกิ่งอย่างหนักทันที

วิธีการตัดแต่งกิ่งลิ้นจี่ของ ไร่ บี.เอ็น. จะยึดหลักการของ พ่อหลวงมนัส เกียรติวัฒน์ เจ้าของสวนลิ้นจี่ศรินทิพย์ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งพ่อหลวงมนัสได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องการตัดแต่งกิ่งด้วยคติ ที่ว่า “เฮาฮักมัน มันบ่ฮักเฮา” ซึ่งอธิบายได้ว่า ถ้าเราไม่ตัดแต่งกิ่งหรือตัดแต่งกิ่งออกน้อย อาจทำให้ต้นลิ้นจี่ติดผลน้อยหรือไม่ติดผลเลย

หลักการตัดแต่งกิ่งคือ ตัดแต่งให้โปร่งที่สุด ตัดออกทั้งกิ่งกระโดงหรือกิ่งที่อยู่กลางทรงพุ่ม ส่วนกิ่งหลักและกิ่งแขนงเล็กให้ตัดออกบ้าง กิ่งที่มีความสูงเกิน 3 เมตร ให้ตัดออก หลังจากตัดแต่งกิ่งเสร็จแล้ว ต้นลิ้นจี่จะแตกกิ่งออกมาเป็นจำนวนมากจะต้องคัดเลือกตัดแต่งทิ้งอีกรอบ ในการตัดแต่งกิ่งแบบนี้พบว่าการติดผลของลิ้นจี่จะมีการติดทั้งในทรงพุ่มและที่ปลายทรงพุ่ม ผลผลิตที่อยู่ภายในทรงพุ่มจะมีคุณภาพที่ดีกว่าปลายทรงพุ่มด้วยซ้ำไป

นอกจากการตัดแต่งกิ่งแล้ว สำหรับประเทศไทย สภาพอากาศที่มีความเหมาะสมและช่วยกระตุ้นให้ต้นลิ้นจี่ออกดอกได้ดีนั้นจะต้องมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 13-14 องศาเซลเซียส และหนาวติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 250 ชั่วโมง หรือประมาณ 10 วัน หรืออย่างน้อยที่สุดนาน 150 ชั่วโมง

จากตรงนี้ สิ่งหนึ่งที่เกษตรกรไทยควรจะนำเอาเป็นแบบอย่างจากพ่อหลวงมนัสคือ เรื่องของการจดบันทึกสภาพอากาศในช่วงฤดูหนาว ว่าในแต่ละวันอุณหภูมิต่ำสุดในแต่วันคือเท่าไรผู้เขียนได้เห็นสมุดบันทึกอุณหภูมิของเกษตรกรวัยชรา(ปัจจุบันพ่อหลวงมนัสถึงแก่กรรมแล้ว) ยังอดทึ่งไม่ได้คนที่ไม่ได้เรียนมาทางด้านการเกษตรยังปฏิบัติอย่างนี้ การจดบันทึกอุณหภูมิในแต่ละปีช่วงฤดูหนาวทำให้พ่อหลวงมนัสสามารถพยากรณ์การออกดอกของลิ้นจี่ในปีนั้นได้ อย่างน้อยที่สุดสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าผลผลิตลิ้นจี่ในปีนั้นจะดกหรือไม่ ในขณะเดียวกันเมื่อต้นลิ้นจี่ได้รับอากาศที่หนาวเย็น

คุณจุลพงษ์  คุ้นวงศ์ ได้เริ่มปฏิวัติการปลูกลิ้นจี่ใหม่โดยเปลี่ยนมาใช้ระบบชิด เลียนแบบการปลูกลิ้นจี่สาธารณรัฐประชาชนจีนโดยเริ่มทดลองปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกลิ้นจี่จำนวน 150 ต้น ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 3 เมตร และระยะระหว่างแถว 3.50 เมตร (จากที่เคยใช้ระยะปลูก 8 คูณ 8 เมตร และบางแปลงปลูกห่างกว่านี้ได้ประสบปัญหาในเรื่องของการจัดการสวนมาก โดยเฉพาะเมื่อต้นลิ้นจี่มีอายุมากขึ้นและมีต้นขนาดใหญ่ขึ้น, ปัญหาที่มีความสำคัญที่สุดคือเรื่องของการเก็บเกี่ยว) และจะต้องมีการควบคุมทรงต้นไม่ให้สูงเกิน 2 เมตร เมื่อลิ้นจี่มีอายุปลูกได้1 ปีครึ่ง คุณจุลพงษ์ พบว่า การจัดการในสวนง่ายขึ้น เสียค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าแรงน้อยลงและเมื่อถึงฤดูการเก็บเกี่ยวเก็บผลผลิตได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นยังพบว่าต้นลิ้นจี่ที่ปลูกในระบบชิดนี้จะออกดอกและให้ผลผลิตเมื่อปลูกไปได้เพียงปีเศษเท่านั้น

การควั่นกิ่ง

เป็นเทคนิคที่สำคัญในการช่วยให้ต้นลิ้นจี่ออกดอกและติดผลได้ดี ต้นลิ้นจี่ที่ให้ผลผลิตแล้วการควั่นกิ่งจะช่วยยับยั้งการแตกใบอ่อนและมีส่วนส่งเสริมการออกดอกให้ดีขึ้น โดยปกติการควั่นกิ่งต้นลิ้นจี่จะทำกันในช่วงเดือนตุลาคม ต้นที่จะทำการควั่นจะต้องมีความแข็งแรงและสมบูรณ์ ใบลิ้นจี่ที่อยู่ในระยะควั่นควรเป็นใบเพสลาด, กิ่งที่ควั่นควรจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-3 นิ้ว ถ้าเป็นไปได้ตำแหน่งที่ควั่นควรจะมีลักษณะกลมและเรียบ

อุปกรณ์ในการควั่น จะใช้เลื่อยโค้งขนาดเล็กหรือใช้เลื่อยตัดเหล็กควั่นผ่านเปลือกและเนื้อเยื่อเจริญ ระมัดระวังในขณะเลื่อยอย่าให้เข้าเนื้อไม้เพราะอาจจะทำให้กิ่งตายได้ หลังจากควั่นเสร็จแล้วใช้ลวด เบอร์ 18 รัดรอยควั่น หลังจากควั่นไปได้นาน 45 วัน จึงค่อยแกะลวดออก ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน วิธีสังเกตว่าการควั่นถูกต้องหรือไม่ ดูได้จากการแกะลวดออกจะพบว่า ส่วนบนของรอยควั่นจะมีขนาดใหญ่กว่าด้านล่าง หลังจากนั้น ต้นลิ้นจี่ได้พักตัวและกระทบกับอากาศหนาวเย็นระยะเวลาหนึ่ง ต้นลิ้นจี่จะทยอยกันออกดอกตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมมาถึงต้นเดือนมกราคม

ข้อควรระวังในการควั่นกิ่ง

ห้ามควั่นกิ่งที่โคนต้นเพียงตำแหน่งเดียว อาจจะทำให้ต้นตายได้ ห้ามควั่นกิ่งในระยะที่ต้นลิ้นจี่กำลังแตกใบอ่อน จะทำให้ยอดชะงักการเจริญเติบโต อย่าลืมแกะลวดที่รัดรอยควั่นเมื่อครบ 45 วัน

ในขณะที่ ไร่ บี.เอ็น. ได้มีการประยุกต์วิธีการควั่นเลียนแบบจากเทคโนโลยีการผลิตลิ้นจี่จากสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตลิ้นจี่ที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีการควั่นกิ่งอีกครั้งในช่วงติดผล จะช่วยในการลดปัญหาการร่วงของผล และยังเชื่อว่าจะให้ผลผลิตมีรสชาติดีขึ้น

เทคนิคการดูแลรักษาต้นลิ้นจี่ ในช่วงออกดอกและติดผล

ขั้นตอนในการปฏิบัติ เมื่อพบว่าต้นลิ้นจี่ออกดอก การให้น้ำ เมื่อเห็นช่อดอกของลิ้นจี่มีความยาวประมาณ 10 เซนติเมตร และมีจำนวนช่อต่อต้นมากพอสมควรจะเริ่มให้น้ำ จะใช้ระบบการให้น้ำแบบฉีดพ่นฝอย (สปริงเกลอร์) โดยต่อท่อให้โผล่พ้นยอดทรงพุ่มต้น ในช่วงของการแทงช่อดอกจะให้น้ำนานประมาณ 1 ชั่วโมง ต่อครั้ง และให้น้ำ 3-5 วัน ต่อครั้ง ในขณะเดียวกัน ที่ไร่ บี.เอ็น. ได้พบข้อมูลที่มีความสำคัญในเรื่องการให้น้ำและความชื้นในอากาศในช่วงที่ต้นลิ้นจี่ออกดอก แต่คุณจุลพงษ์ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความชื้นในอากาศมากกว่า เพราะมีประสบการณ์ว่าในช่วงที่ต้นลิ้นจี่ออกดอกและมีการให้น้ำอย่างสมบูรณ์ แต่การติดผลกลับไม่ดี เพราะมีความชื้นในอากาศที่วัดด้วยเครื่อง Hygrometer มีเพียง 30-40 เปอร์เซ็นต์

คุณจุลพงษ์ บอกว่า ถ้าความชื้นในอากาศในช่วงออกดอก 60-70 เปอร์เซ็นต์ จะช่วยให้การติดผลดีขึ้น จึงพบอยู่เสมอว่า เมื่อต้นลิ้นจี่ออกดอกและมีฝนตกลงมาช่วยให้ติดผลดกมากขึ้น การใช้ฮอร์โมน การใช้ฮอร์โมนจิบเบอเรลลิน ฉีดพ่นในระยะที่ลิ้นจี่ติดผลเท่ากับหัวไม้ขีดไฟ และฉีดพ่นอีกครั้งในระยะที่ผลมีขนาดเท่ากับปลายนิ้วก้อย จะช่วยให้ผลลิ้นจี่มีขนาดใหญ่สม่ำเสมอมีคุณภาพดี

การให้ปุ๋ย

กรณีของสวนลิ้นจี่ศรินทิพย์ ของพ่อหลวงมนัส เกียรติวัฒน์ จะใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 8-24-24 ในระยะที่ผลลิ้นจี่มีขนาดเท่ากับปลายนิ้วก้อย โดยใส่ให้ทุกๆ 7 วัน เป็นจำนวน 3 ครั้ง สำหรับเทคนิคในการใส่จะนำปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24 จำนวน 1 กระสอบ ผสมกับสารจับใบ เลทรอน ซีเอส-7อัตรา 150 ซีซี หมักทิ้งไว้ 1 คืน วันรุ่งขึ้น ชั่งปุ๋ยในอัตรา 10 กิโลกรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร นำมาฉีดภายในทรงพุ่มลิ้นจี่ ในอัตรา ต้นละ 5 ลิตร และเมื่อผลลิ้นจี่ใกล้แก่และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ หรือประมาณ 20 วัน ก่อนเก็บเกี่ยวจะใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-21 โดยใช้เทคนิคการใส่เหมือนกับที่ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-21