เลือกปลูกสับปะรดอย่างไร ให้ตรงกับความต้องการของตลาด

สับปะรดในประเทศไทย นับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง เนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออกสับปะรดและผลิตภัณฑ์ในลำดับต้นๆของโลก มูลค่าส่งออกสูงถึง 25,000 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกมากคือ สับปะรดกระป๋อง ร้อยละ 80 และน้ำสับปะรด ร้อยละ 20 โดยมีทั้งการส่งออกในตราสินค้าของตนเองและการรับจ้างผลิต แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการรับจ้างผลิต ในปี 2554 มีโรงงานผลิตสับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรดเข้มข้นที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มากกว่า 75 โรง กำลังผลิตรวมกันประมาณ 800,000 ตัน/ปี ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกประมาณปีละ 600,000 ตัน/ปี คู่แข่งสำคัญของไทยในอุตสาหกรรมสับปะรด คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเชีย และจีน

พันธุ์สับปะรดที่เกษตรกรปลูก หากเป็นสับปะรดส่งโรงงานนิยมปลูกพันธุ์ปัตตาเวีย เนื่องจากมีเนื้อแน่น รสหวานปานกลางหรือหวานจัดสามารถปลูกได้ทั่วไป สำหรับพันธุ์รับประทานผลสดมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับพื้นที่ปลูก กล่าวคือ พันธุ์นางแล ลักษณะใบมีขอบเรียบหรือมีหนามเล็กน้อย ผลรูปทรงกลม ตานูน เปลือกบาง เนื้อหวานจัด สีเหลืองทอง พบปลูกในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะที่ตำบลนางแล อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย นับว่าเป็นแหล่งปลูกที่เหมาะสมที่สุด

ในพื้นที่ภาคใต้ นิยมปลูกสับปะรดพันธุ์ภูเก็ตและพันธุ์สวี ภาคตะวันออกนิยมปลูกสับปะรดพันธุ์ตราดสีทอง โดยสับปะรดทั้งสามพันธุ์ขอบใบมีหนามมาก ผลมีตาลึก เมื่อแก่จัดเปลือกสีส้ม และมีส่วนของกลีบดอกอยู่ที่เปลือก เนื้อหวานกรอบมีรูพรุน สีเหลืองเข้ม ทั้งนี้พันธุ์สวีจะมีผลสั้นกว่าพันธุ์ภูเก็ตและพันธุ์ตราดสีทอง โดยที่จังหวัดภูเก็ตเป็นแหล่งปลูกที่เหมาะสมสำหรับพันธุ์ภูเก็ต ส่วนจังหวัดตราดเป็นแหล่งที่เหมาะสม
สำหรับพันธุ์ตราดสีทอง และอำเภอสวี จังหวัดชุมพร เป็นแหล่งปลูกที่เหมาะสมสำหรับพันธุ์สวี นอกจากนี้ในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ยังปลูกสับปะรดพันธุ์อินทรชิดขาว – แดงอีกด้วย ตลอดจนมีการนำเข้าพันธุ์สับปะรดจากต่างประเทศ เช่น พันธุ์บราซิล พันธุ์ Tainan จากไต้หวัน และพันธุ์ White
Jewel จากฮาวาย เป็นต้น

15590110_902637959872248_221246293023766082_n

สำหรับสับปะรดพันธุ์เพชรบุรีที่กล่าวถึง และชาวเพชรบุรีเรียกว่า สับปะรดพันธุ์ฉีกตานั้น เป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่ปี 2541 ทำการรวบรวมและศึกษาพันธุ์ที่สถานีทดลองพืชสวนเพชรบุรี (ชื่อเดิม) เพื่อคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะต่อการรับประทานผลสด ให้ผลผลิตสูง
และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพพื้นที่ดังกล่าวได้ ลักษณะเด่นของพันธุ์เพชรบุรี คือ ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ภูเก็ตร้อยละ 17.7 และสูงกว่าพันธุ์สวีร้อยละ 23.2 อยู่ในกลุ่มพันธุ์เดียวกัน รสชาติหวานอมเปรี้ยว ปริมาณ soluble solids สูงถึง 16.9 องศาBrix และมีปริมาณกรดค่อนข้างต่ำราวร้อยละ 0.45 มีกลิ่นหอมแรง เนื้อกรอบใกล้เคียงกับพันธุ์สวีและพันธุ์ภูเก็ต สีเนื้อเหลืองอมส้มสม่ำเสมอ สามารถแกะแยกผลย่อยหรือตา
(fruitlet) ออกจากกันโดยง่าย และรับประทานแกนผลได้ ปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย สามารถเจริญเติบโตได้ดีแม้ในสภาพอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง แต่ไม่ชอบพื้นที่ที่มีน้ำขัง

แหล่งปลูกสับปะรดที่สำคัญของไทย คือ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยอง ชลบุรี เพชรบุรี และพิษณุโลก ผลผลิตออกมากในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน และพฤศจิกายน – มกราคมของทุกปี ในปี 2551 ประเทศไทยมีพื้นที่เก็บเกี่ยวสับปะรดประมาณ 580,000 ไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 2.28 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 3.91 ตัน/ไร่ สำหรับปี 2555 คาดว่าจะมีพื้นที่เก็บเกี่ยวประมาณ 646,000 ไร่ ผลผลิตรวมประมาณ2.52 ล้านตัน และผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 3.89 ตัน/ไร่ ในขณะที่ปี 2554 ที่ผ่านมา มีพื้นที่เก็บเกี่ยวไม่แตกต่างจากปี 2555 มากนัก แต่ผลผลิตรวมสูงกว่าเล็กน้อยประมาณ 2.58 ล้านตัน โดยผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 4 ตัน/ไร่

15590649_902637899872254_1932692493582940024_n

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลผลิตสับปะรดในปี 2555 ลดลง เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกสับปะรดไปปลูกอ้อยหรือมันสำปะหลัง อีกทั้งการปลูกสับปะรดในสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันไม่สามารถทำได้ เนื่องจากต้นยางพาราและต้นปาล์มน้ำมันเริ่มโตมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถปลูก
สับปะรดแซมได้อีก อย่างไรก็ตามในแหล่งปลูกยางใหม่ หรือสวนมะพร้าวที่ปลูกใหม่ เกษตรกรได้ปลูกสับปะรดแซมมากขึ้น แต่ปัญหาเรื่องความแห้งแล้งจากภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนานในเขตปลูกสับปะรดที่สำคัญ เช่น บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดเพชรบุรี ส่งผลให้ผลผลิตไม่สมบูรณ์ ภาพรวมของผลผลิตสับปะรดจึงต่ำกว่าปีก่อนเล็กน้อย อย่างไรก็ตามจากข้อมูลของ FAO ในปี 2553 พบว่าประเทศยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตสับปะรด 5 อันดับแรก คือ ฟิลิปปินส์ บราซิล คอสตาริก้า ไทย และจีน มีผลผลิตรวมกันเป็นครึ่งหนึ่งของปริมาณสับปะรดทั้งโลก

สับปะรด มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ananas comosus เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งที่มีอายุหลายปี มีต้นกำเนิดมาจากบริเวณทวีปอเมริกาใต้ จัดชเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีความสูงประมาณ 90 – 100 เซนติเมตร มีลำต้นอยู่ใต้ดิน ใบเดี่ยวเรียงสลับซ้อนกันถี่มาก รอบต้นกว้าง 6.5 เซนติเมตร ยาวได้ถึง 1 เมตร ไม่มีก้านใบ ดอกช่อออกจากกลางต้น มีดอกย่อยจำนวนมาก ผลเป็นผลรวม รูปทรงกระบอก มีใบเป็นกระจุกที่ปลายผล ต้องการอากาศค่อนข้างร้อนในการเจริญเติบโต อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 23.9 – 29.4 องศาเซลเซียล ปริมาณน้ำฝนที่ต้องการอยู่ในช่วง 1,000 – 1,500 มิลลิเมตรต่อปี โดยต้องกระจายสม่ำเสมอตลอดปี และมีความชื้นในอากาศสูง

 

ลักษณะดินที่เหมาะสม ควรเป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย สามารถเจริญเติบโตได้ในดินปนลูกรัง และดินทรายชายทะเล และที่ลาดเท เช่น ที่ลาดเชิงเขา แต่ไม่ควรสูงกว่าระดับน้ำทะเล เกิน 600 เมตร ไม่เหมาะในสภาพน้ำท่วมขัง สภาพความเป็นกรดด่าง (pH) ของดินควรเป็นกรดเล็กน้อย คือตั้งแต่ 4.5 – 5.5 แต่ไม่เกิน 6.0 ดินควรมีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง มีอินทรียวัตถุไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1.5 การระบายน้ำดี และระดับหน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร

สำหรับการปลูกสับปะรด ต้องวางแผนการผลิตให้ดี เพื่อให้ผลผลิตกระจายตัวสม่ำเสมอ ไม่มีปัญหาในการจำหน่าย โดยเฉพาะสับปะรดส่ง
โรงงาน โดยหลักการแล้ว หากมีแหล่งน้ำเพียงพอสามารถปลูกสับปะรดได้ตลอดปี แต่ถ้าหากไม่มีแหล่งน้ำ ควรปลูกสับปะรดในช่วงต้นฝน โดยช่วงฤดูแล้งควรปลูกด้วยจุก ช่วงฤดูฝนควรปลูกด้วยหน่อ เพื่อเป็นการกระจายการผลิต

การเตรียมดิน สำหรับพื้นที่เคยปลูกสับปะรด ให้ไถสับใบและต้น ทิ้งไว้ประมาณ 2 – 3 เดือน แล้วไถกลบ จากนั้นให้ไถอีก 1 ครั้ง เพื่อทำการตากดินไว้ประมาณ 7 – 10 วัน จึงไถพรวนประมาณ 1 – 2 ครั้ง แล้วยกแปลงสูง 15 เซนติเมตร ทำแนวปลูกสับปะรด หากเป็นพื้นที่ลาดเอียงมากกว่าร้อยละ 3 ต้องทำร่องระบายน้ำรอบแปลงปลูก เพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดิน และควรวิเคราะห์ดินก่อนปลูก พร้อมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำในแต่ละแหล่งปลูก โดยเฉพาะการจัดการอินทรียวัตถุในดิน

วิธีการปลูก ทำได้สองวิธี คือ การปลูกด้วยหน่อ และการปลูกด้วยจุก โดยการปลูกด้วยหน่อให้คัดหน่อขนาดเดียวกันสำหรับปลูกในแต่ละแปลง เพื่อสามารถเก็บเกี่ยวได้พร้อมกัน ซึ่งสามารถบังคับดอกได้เมื่ออายุปลูก 8 – 12 เดือน ขึ้นอยู่กับขนาดของหน่อที่ใช้ปลูก สำหรับการปลูกด้วยจุก จุกควรมีขนาดตั้งแต่ 180 กรัมขึ้นไป สามารถบังคับดอกได้เมื่ออายุปลูก 10 – 14 เดือน ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาปลูก ก่อนปลูกต้องชุบหน่อหรือจุกด้วยสารป้องกันโรครากเน่าหรือต้นเน่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกช่วงกลางฤดูฝน ตามคำแนะนำ และควรปลูกในลักษณะแถวคู่ ระยะปลูก30 x 30 x (80 – 90) เซนติเมตร ปลูกได้ประมาณ 7,500 – 8,500 ตันต่อไร่ แต่ไม่ควรเกิน 12,000 ตันต่อไร่

การให้ปุ๋ย ให้ปุ๋ยรองพื้นสูตร 16-20-0 และให้ปุ๋ยบริเวณกาบใบล่างของต้น ด้วยปุ๋ยเคมีสัดส่วน 2:1:3 หรือ 3:1:4 เช่น สูตร 12-6-15 หรือ
12-4-18 หรือ 15-5-20 หรือ 13-13-21 ให้ 2 ครั้ง ครั้งละ 10 – 15 กรัมต่อต้น ครั้งแรกหลังปลูก 1 – 3 เดือน ครั้งต่อมาห่างกัน 2 – 3 เดือน หากไม่ได้ให้ปุ๋ยรองพื้น จะให้ปุ๋ยทางกาบใบล่างของต้นก็ได้ แต่เพิ่มจำนวนเป็น 3 ครั้ง ควรสังเกตดูว่าสับปะรดมีใบสีเขียวซีดจางเนื่องจากได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอหรือไม่ หากพบให้พ่นปุ๋ยทางใบเสริม เช่น ปุ๋ยเคมีสูตร 23-0-30 ผสมน้ำเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์ อัตรา 75 มิลลิลิตรต่อต้น จำนวน3 ครั้ง คือ ระยะก่อนบังคับดอก 30 วัน 5 วัน และหลังบังคับดอก 20 วัน

สำหรับการให้น้ำ ไม่จำเป็นต้องให้น้ำ ถ้ามีปริมาณน้ำฝนสม่ำเสมอตลอดฤดูกาล แต่ในฤดูแล้งหากฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ควรให้น้ำต้นสับปะรดที่กำลังเจริญเติบโต สัปดาห์ละ 1 – 2 ลิตรต่อต้น และหลังใส่ปุ๋ยครั้งสุดท้าย ถ้าไม่มีฝนต้องให้น้ำเพื่อให้ต้นสับปะรดใช้ปุ๋ยให้หมด อีกทั้ง
ควรให้น้ำก่อนและหลังการออกดอก และหยุดให้น้ำก่อนเก็บเกี่ยว 15 – 30 วัน

การบังคับดอก ในแปลงเดียวกัน ควรบังคับดอกพร้อมกัน โดยบังคับดอกหลังการให้ปุ๋ยทางกาบใบแล้ว 2 เดือน หรือหลังการพ่นปุ๋ยทางใบ1 เดือน และบังคับดอกเมื่อต้นสับปะรดมีน้ำหนักต้นปลูกประมาณ 2.5 – 2.8 กิโลกรัม และน้ำหนักต้นตอประมาณ 1.8 – 2.0 กิโลกรัม ด้วยสารผสม
ของเอทธิฟอน (39.5%) อัตรา 8 มิลลิลิตร กับปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 อัตรา 300 กรัม และน้ำ 20 ลิตร อัตรา 60 – 75 มิลลิกรัมต่อต้น หรือใส่ถ่านแก๊ส อัตรา 1 – 2 กรัมต่อต้น ในขณะมีน้ำอยู่ในยอดทั้ง 2 วิธี บังคับ 2 ครั้ง ห่างกัน 4 – 7 วัน ทำการบังคับดอกในช่วงเย็นหรือกลางคืน หากมีฝนตกภายใน 2 ชั่วโมง หลังหยอดสารบังคับดอก ควรหยอดซ้ำภายใน 2 – 3 วัน

การเก็บเกี่ยว สับปะรดสำหรับโรงงาน เก็บเกี่ยวผลสับปะรดที่มีความสุกแก่ตามมาตรฐาน และห้ามใช้สารเคมีทุกชนิดเร่งให้สับปะรดสุกก่อนกำหนด เก็บโดยใช้มือหักผลออกจากต้นโดยไม่ต้องเหลือก้าน แล้วหักจุกออก คัดทิ้งผลแกน ถูกแดดเผา หรือจุกผิดปกติออก คัดขนาดให้ได้ตามมาตรฐานของโรงงาน และควรส่งโรงงานภายใน 1 – 2 วัน เพื่อรักษาคุณภาพของสับปะรด และการจัดเรียงผลสับปะรด ให้จัดเรียงโดยด้านจุกอยู่ด้านล่าง เพื่อรับน้ำหนักและป้องกันผลช้ำ สำหรับสับปะรดบริโภคสด ควรเก็บเกี่ยวเมื่อตาสับปะรดเริ่มเปิด 2 – 3 ตา หรือผิวเปลือกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ใช้มีดตัดให้เหลือก้านยาวติดผลประมาณ 10 เซนติเมตร โดยไม่ต้องหักจุกออก

15578970_902637903205587_5582396210634097966_n การจัดการต้นตอ เนื่องจากสับปะรดสามารถไว้ตอได้ 1-2 ครั้ง โดยไม่ต้องปลูกใหม่ เมื่อเก็บเกี่ยวแล้ว ควรใช้มีดตัดต้นสับปะรดระดับเหนือดิน 20-30 เซนติเมตร และตัดใบให้เหลือประมาณ 10 เซนติเมตร จากนั้นให้ใช้ต้นและใบสับปะรดคลุมดิน เพื่อรักษาความชื้นและป้องกันการงอกของวัชพืช รวมทั้งให้ปุ๋ยและน้ำตามคำแนะนำ ตลอดจนหักหน่ออากาศ หรือหน่อที่เกิดจากต้นไปใช้ขยายพันธุ์ เหลือเฉพาะหน่อดินไว้เป็นต้นตอ

โรคที่สำคัญของสับปะรดที่มักพบบ่อยๆ คือ โรครากเน่าหรือต้นเน่า และโรคผลแกน ซึ่งโรครากเน่าหรือต้นเน่า เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราทำให้ใบยอดล้มพับและหลุดง่าย ระบาดรุนแรงในฤดูฝน โดยเฉพาะในพื้นที่มีสภาพเป็นด่าง สามารถป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงการใช้หน่อหรือ
จุกสับปะรดจากแหล่งและแปลงที่มีโรคระบาด ลักษณะอาการส่วนยอดของสับปะรดจะเปลี่ยนเป็นสีแดง สีเหลืองซีด ใบยอดล้มพับและหลุดง่ายบริเวณฐานใบมีรอยเน่าซ้ำสีเหลืองอ่อน ขอบแผลสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ เกิดอาการเน่าและมีกลิ่นเฉพาะตัว มักระบาดรุนแรงในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะในพื้นที่มีสภาพเป็นด่าง โรคนี้สามารถป้องกันและกำจัดได้โดยปรับพื้นที่แปลงปลูกให้มีการระบายน้ำได้ ดี ปรับสภาพความเป็นกรดด่างของดินให้ต่ำกว่า 5.5 โดยใช้กำมะถันผง หลีกเลี่ยงการใช้หน่อหรือจุกสับปะรดจากแหล่งและแปลงที่มีโรคระบาด และจุ่มหน่อหรือจุกก่อนปลูก และพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชทุก 2 เดือน ตามคำแนะนำ เมื่อพบต้นที่เป็นโรคให้เก็บต้นที่เป็นโรคเผาทำลาย แล้วพ่นต้นสับปะรดบริเวณใกล้
เคียง ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ตามคำแนะนำ

สำหรับโรคผลแกน เกิดจากปฏิกิริยาร่วมระหว่างเชื้อแบคทีเรีย กับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ ลักษณะอาการเริ่มเมื่อเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในผลตั้งแต่ระยะดอกบาน และแสดงอาการเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม คือ ผลสับปะรดที่เริ่มแก่ จะมีน้ำมากขึ้น บริเวณตาและ
เนื้อผลที่ถูกเชื้อเข้าทำลาย เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม และแข็งกระด้าง ไม่ยืดหยุ่นเหมือนเนื้อสับปะรดปกติ ช่วงเวลาระบาดรุนแรงในระยะ 7 – 10 วันก่อนที่ผลสับปะรดจะเก็บเกี่ยวได้ การป้องกันสามารถทำได้โดยเพิ่มจำนวนต้นต่อไร่ให้มากขึ้น และให้โพแทสเซียมคลอไรด์ ตามคำแนะนำ

 

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี