ไก่แจ้ บังเกรียง บางน้ำเปรี้ยว ขึ้นแท่น ไก่ดี เกรดประกวด

ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ คุณเกรียงศักดิ์ วิไลวรรณ หรือที่รู้จักกันดีในวงการไก่แจ้ ว่า “บังเกรียง” มีความรู้ความชำนาญในการเลี้ยงไก่แจ้ เพื่อการประกวด เป็นอย่างดี

ตั้งแต่เล็ก คุณเกรียงศักดิ์มีหน้าที่ดูแลไก่แจ้ของพี่ชายที่ทำงานอยู่ต่างถิ่น แม้จะดูเหมือนเป็นหน้าที่ที่มากเกินไปสำหรับเด็ก แต่คุณเกรียงศักดิ์รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องยาก เพราะไก่แจ้เป็นสัตว์ดูแลง่าย เพียงให้อาหาร น้ำ และทำความสะอาดกรงอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ไก่แจ้ก็สามารถอยู่ได้อย่างเป็นสุข

เพราะหน้าที่ก่อให้เกิดเป็นความรักและส่งผลให้เกิดความผูกพันตามมา จนเมื่อคุณเกรียงศักดิ์ก้าวเข้าสู่วัยรุ่นก็เริ่มรู้จักการประกวดไก่แจ้ และเป็นครั้งแรกที่คุณเกรียงศักดิ์จุดประกายให้ตนเอง เริ่มเลี้ยงไก่แจ้ของตัวเองจริงๆ

คุณเกรียงศักดิ์ วิไลวรรณ กับไก่แจ้ขาวหางดำ สีโปรด

“ตอนแรกไม่รู้จักอะไร คิดว่าเป็นสัตว์เลี้ยงตัวเล็กๆ ที่เด็กๆ เลี้ยง แต่เริ่มโต เห็นมีการจัดประกวดไก่แจ้ เลยเข้าไปดู แล้วก็เป็นจุดเริ่มต้นให้ผมได้เริ่มมีไก่แจ้ของตัวเอง”

ไก่แจ้คู่แรกของคุณเกรียงศักดิ์ที่ได้มาครอบครองก็มาจากสนามประกวดแรกที่คุณเกรียงศักดิ์เริ่มรู้จัก และได้มาในราคา 1,500 บาท เป็นไก่แจ้ที่ผ่านการประกวด

หลังจากนั้น การสะสมไก่ตามสีที่ชอบก็ตามมา คุณเกรียงศักดิ์เริ่มซื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้นและเพาะขยายพันธุ์เอง โดยมีเป้าหมายเพียงเพื่อส่งไก่แจ้เข้าประกวด ไม่ได้ตั้งใจเพาะพันธุ์ไก่แจ้ไว้เพื่อซื้อขายแต่อย่างใด แต่เมื่อการส่งไก่แจ้เข้าประกวดในแต่ละครั้งของคุณเกรียงศักดิ์ได้รับการยอมรับในสนามประกวด คว้ารางวัลมาครองได้ในทุกสนาม ก็ทำให้มีคนสนใจในลูกไก่แจ้ของคุณเกรียงศักดิ์ มีการทาบทามติดต่อขอซื้อ ธุรกิจการซื้อขายไก่แจ้จึงเป็นเรื่องที่ตามมา ภายหลังการประกวดไก่แจ้ประสบความสำเร็จ

สีป่าเหลือง

“ผมชอบไก่แจ้สีขาวหางดำ กับป่าเหลือง อย่างสีขาวหางดำถือว่าเป็นราชินีไก่แจ้ เป็นต้นแบบของสีทุกสี กลม สวย หางบาน ส่วนป่าเหลืองเป็นสีที่สะดุดตา สร้อยเหลือง ระย้าเหลือง ปีกดำ หน้าแดง เมื่อออกแดดสีเงางาม ซึ่งเกิดจากธรรมชาติของไก่เอง”

การผสมพันธุ์ของไก่แจ้ ควรให้มีความสมบูรณ์ทั้งเพศผู้และเพศเมีย

เพศเมีย อายุไม่ต่ำกว่า 5 เดือน เพศผู้ อายุไม่ต่ำกว่า 7 เดือน

ไก่แจ้สีทอง เพศผู้
ไก่แจ้สามสี เพศผู้

สัดส่วนการผสมโดยทั่วไปของไก่ พ่อพันธุ์สามารถผสมแม่พันธุ์ได้มากถึง 5 ตัว แต่เทคนิคของคุณเกรียงศักดิ์ เห็นว่า ควรให้พ่อพันธุ์ผสมแม่พันธุ์ 1-2 ตัวเท่านั้น ไม่ควรมากกว่า เพราะแม้จะได้ไข่จำนวนมาก แต่คุณภาพไข่แต่ละใบน้อย และไม่ควรคาดหวังกับไข่ชุดแรกของแม่พันธุ์ที่เพิ่งได้รับการผสมเป็นครั้งแรก

การผสมสามารถให้พ่อพันธุ์ขึ้นทับแม่พันธุ์กี่ครั้งก็ได้ต่อวัน ขึ้นกับผู้เลี้ยง เพราะไม่มีข้อกำหนดตายตัวในเรื่องครั้งของการผสม แต่สำหรับที่นี่ให้ผสมวันละครั้ง หรือผสมเช้าและเย็น ก็เพียงพอแล้ว

เทคนิคการเลือกพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ให้พิจารณาจาก

พ่อพันธุ์ ยังอยู่ในวัยหนุ่ม

แม่พันธุ์ อายุมากกว่าพ่อพันธุ์ หรือเรียกว่าไก่แก่ เพราะจะให้ไข่น้อย

ควรมีฟอร์มดีทั้งพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ ซึ่งเมื่อผสมกันแล้วจะได้จำนวนไข่น้อยใบ แต่คุณภาพดีทุกใบ

ลูกไก่แจ้ อายุ 1 เดือนกว่า

เมื่อได้ลูกไก่แจ้ออกมา การดูฟอร์มไก่เพื่อคัดเลือกไว้สำหรับเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ต่อไป หรือจะคัดไว้เพื่อส่งประกวดก็เป็นเรื่องที่ผู้เลี้ยงต้องใช้ประสบการณ์ในการเลี้ยงไก่แจ้มาช่วย

“เปอร์เซ็นต์ไก่แจ้ออกมาแล้วสวย ขึ้นอยู่กับพ่อพันธุ์มากกว่าแม่พันธุ์ แต่ก็คาดหวังอะไรไม่ได้ บางครั้งออกมาในคอกหนึ่งไม่ได้สวยทั้งหมด ไม่ว่าจะผสมอย่างไร แต่บางครั้ง ได้ลูกไก่แจ้ออกมา 5 ตัว คัดเลือกสวยได้เพียงตัวเดียวก็ถือว่าดีแล้ว ซึ่งก็เป็นที่มาของราคาที่แพงของไก่แจ้ และเป็นเสน่ห์ของการทำไก่แจ้ด้วย”

คุณเกรียงศักดิ์ บอกว่า ในบางครั้งเราจะเห็นฟอร์มไก่แจ้ตั้งแต่ยังเล็ก สามารถคัดได้เลย แต่บางตัวก็ยังไม่ออกฟอร์ม ต้องใช้เวลารอให้โตอีกสักหน่อย ไก่แจ้บางตัวอาจจะไม่เห็นฟอร์มตอนเล็ก แต่เมื่อเริ่มโตจะออกฟอร์มให้เห็น ซึ่งก็ถือว่าโชคดี เพราะพบได้น้อยเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

สีกระดำ ก็สวย
ขาวหางดำ ได้รับความนิยม

การให้อาหาร เพียงวันละครั้งถือว่าเพียงพอ และไม่ควรให้มากเกินไป เพราะธรรมชาติของไก่จะคุ้ยอาหารหกทิ้งเสียหาย

การให้น้ำ ควรให้ในภาชนะที่หกยาก เพราะไก่ขาดอาหารได้นานกว่าน้ำ โดยเฉพาะเมื่อเผชิญสภาวะอากาศร้อน อาจทำให้ไก่เป็นไข้แดดและน็อกเสียชีวิต

คุณเกรียงศักดิ์ บอกว่า ความสวยงามของขนไก่ ไม่ได้มาจากคุณภาพของอาหารเป็นหลัก แต่ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของไก่มากกว่า ส่วนอาหารเสริมก็เป็นสิ่งที่เพิ่มเข้าไปให้ไก่มีสุขภาพสมบูรณ์เท่านั้น เช่นที่นี่ ให้หญ้าขนหั่น เพราะหญ้าขนมีวิตามินเสริม จึงเป็นตัวที่เสริมวิตามินให้กับไก่แจ้ได้ดีมาก และสามารถให้ได้ทุกวัน

ความสมบูรณ์ของหงอน

สำหรับแคลเซียม ที่ผู้เลี้ยงสัตว์ปีกมักนิยมให้ โดยเฉพาะผู้เลี้ยงนก แต่สำหรับไก่แจ้ไม่จำเป็นต้องให้แคลเซียม แต่ถ้าต้องการให้ก็สามารถซื้อเปลือกหอยทุบละเอียดที่มีจำหน่ายตามร้านขายอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วไปมาให้กินได้

การดูแลรักษาโรค ในไก่แจ้มีโรคที่ควรระวัง 3 ชนิดหลัก คือ โรคนิวคาสเซิล โรคอหิวาต์ และโรคฝีดาษ ซึ่งทั้งหมดสามารถป้องกันได้โดยการให้วัคซีนตามกรมปศุสัตว์กำหนด หากใครเลี้ยงไว้จำนวนมาก การทำวัคซีนให้ไก่ทุกตัวก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อไม่ให้เกิดโรคและกลายเป็นโรคติดต่อระบาดต่อไป หากเลี้ยงจำนวนไม่มากนัก ก็เลือกได้ว่าจะทำวัคซีนให้ไก่หรือไม่ ซึ่งการไม่ทำวัคซีนให้ไก่แจ้ ในกรณีที่เลี้ยงจำนวนน้อย ก็ไม่ใช่เรื่องผิด

เมื่อถามถึงโอกาสที่จะเกิดการสูญเสียกับไก่แจ้ คุณเกรียงศักดิ์ อธิบายว่า ไก่แจ้เป็นสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงง่ายมาก ให้อาหารและน้ำอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญต้องทำให้ที่อยู่อาศัยของไก่แจ้สะอาด หมั่นทำความสะอาดกรงเป็นประจำ เพียงเท่านี้ปัญหาทุกอย่างที่จะเกิดกับไก่แจ้ก็จะลดลงไปเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การทำให้ที่อยู่อาศัยของไก่มีความโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไก่แจ้มีสุขภาพดีด้วย

“โอกาสที่ไก่แจ้ตายระหว่างเลี้ยง จะเกิดขึ้นกับไก่แจ้วัย 2-3 เดือนมากที่สุด ควรสังเกตขี้ของไก่ระหว่างเลี้ยง หากพบว่าไก่แจ้ขี้ขาว ขี้เขียว ขี้ปนเลือด ขี้เป็นเลือด ให้สังเกตว่าเกิดจากไก่แจ้ตัวไหนแล้วให้แยกออก จากนั้นให้ยายูเนี่ยนซัลฟา ซึ่งเป็นยาเฉพาะของไก่โดยตรง แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มของไก่ชน แต่ก็สามารถให้กินได้ในปริมาณตามน้ำหนักของไก่แจ้”

สำหรับมือใหม่หัดเลี้ยง คุณเกรียงศักดิ์ ให้คำแนะนำว่า ควรเริ่มศึกษาการเลี้ยงให้ดี แล้วค่อยถามตัวเองว่าชอบสีอะไร จากนั้นจึงซื้อสีที่ชอบมาเลี้ยง และไม่ควรเริ่มเลี้ยงจากการคาดหวังทำธุรกิจ ควรเริ่มจากความรัก ส่วนธุรกิจการซื้อขายไก่แจ้ตามมาภายหลังก็ถือเป็นเรื่องดี แต่หากใครเริ่มจากการนำธุรกิจเป็นตัวตั้ง ส่วนใหญ่จะไปไม่รอด เพราะการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงทุกชนิดต้องเริ่มจากความรัก ไม่อย่างนั้นจะเข้าไม่ถึงสัตว์เลี้ยงเลย

เมื่อถามถึงตลาด เพราะในทุกวันมีการซื้อขายไก่แจ้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ คุณเกรียงศักดิ์ ให้คำตอบว่า เพราะไก่แจ้มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ทั้งยังมีตลาดต่างประเทศที่สนใจเข้ามาติดต่อขอซื้อนำออกนอกประเทศไปหลายประเทศ เช่น เวียดนาม พม่า ลาว คูเวต บาห์เรน เป็นต้น ซึ่งแต่ละประเทศที่ติดต่อเข้ามาขอซื้อไก่แจ้จากไทย ดูจากความสวยงามตามที่ถูกใจ ไม่ได้เน้นว่าต้องประกวดหรือไม่ หากถูกใจราคาซื้อขายจะสูงขึ้นเป็นสองเท่าของราคาซื้อขายในประเทศไทย ส่วนการซื้อขายในประเทศไทยก็ยังคงมีกลุ่มลูกค้าที่ต้องการเลี้ยงไก่แจ้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเลี้ยงเล่น เลี้ยงเพื่อส่งประกวด และเลี้ยงเพื่อเพาะขยายพันธุ์

คุณเกรียงศักดิ์ เป็นกรรมการในชมรมส่งเสริมผู้เลี้ยงไก่แจ้ฉะเชิงเทรา ภายใต้สมาคมส่งเสริมผู้เลี้ยงไก่แจ้แห่งประเทศไทย ดังนั้น จึงมีประสบการณ์ด้านการประกวดไก่แจ้มากพอที่จะช่วยพิจารณาฟอร์มไก่แจ้ได้ หากสนใจเข้าชมฟาร์ม หรือสอบถามเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ คุณเกรียงศักดิ์ วิไลวรรณ HOME BANTAM WILIWAN FRAM ตำบลดอนฉิมพลี อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือโทรศัพท์ (085) 906-8444