ส้มบางมด ที่หนองเสือ ชีวิตและความหวานอันไม่รู้จบ

ความทรงจำวัยเด็กของผมเกี่ยวกับส้มเขียวหวานก็คือมันมีราคาไม่แพงนัก แต่ที่กล่าวขวัญกันว่าดีที่สุดก็คือ “ส้มบางมด” ที่ตำบลบางมด ย่านฝั่งใต้ของธนบุรี แม้ว่านานๆ จะมีโอกาสได้ชิมสักครั้ง แต่ค่าที่ว่าเรายังเป็นเด็ก ก็ย่อมจะจดจำรสชาติหวานฉ่ำของมันได้ดีจนเดี๋ยวนี้

เรื่องที่เล่าสู่กันฟังได้อย่างชวนเอาไปคิดต่อ เห็นจะมีว่า เมื่อผมโตขึ้น ได้รู้จักเพื่อนหลายคน พวกเขาเล่าตรงกันว่า ส้มบางมดนั้น “เดี๋ยวนี้ไม่อร่อยแล้ว สู้แต่ก่อนไม่ได้เลย” เนื่องจากดินจืดบ้าง น้ำเค็มหนุนจนเสียหายบ้าง หากจะหมายเอาช่วงเวลาคร่าวๆ ก็ต้องว่า ส้มบางมดเมื่อสัก 20 กว่าปีก่อน (ตอนที่เพื่อนเล่าให้ผมฟัง) ก็อร่อยสู้สมัยเขาเด็กๆ (คือราว 40-50 ปีก่อน) ไม่ได้แล้ว

ความรู้สึกที่ว่า อะไรต่อมิอะไรในช่วงเวลาร่วมสมัยของเรา ล้วนแต่ลดน้อยด้อยคุณภาพลงนั้นช่างเป็นเรื่องแปลก เพราะดูเหมือนจะเกิดแก่ผู้คนทุกยุคทุกสมัย กรณีส้มบางมดนี้ หนังสือตำราแม่ครัวหัวป่าก์ ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ (พ.ศ. 2452) มีอ้างบทกลอนของพระแก้วคฤหรัตนบดี (น่วม) ตอนหนึ่งว่า

“..ส้มเขียวหวานบางมดรศเปนจอม   เดี๋ยวนี้ย่อมสูญทรามเพราะน้ำเคม

ราษฎรขุดคลองทำนาเกลือ             น้ำจึงเหลือไหลล้นค่นเค่ม

ต้นก็ตายคลายรศเพราะดินเคม         ถึงอย่างนั้นรศยังเค่มพอรับประทานฯ”

แบบนี้ก็เลยชวนฉงนว่า ตกลงแล้วช่วงที่ดีๆ ของส้มบางมดเคยมีอยู่จริงหรือไหม หรือที่แท้มันก็เป็นแค่ความรู้สึกโหยหาอดีต (Nostalgia) ล้วนๆ ที่มีในคนทุกรุ่น ความโหยหาอันตกอยู่ภายใต้กรอบคิดแบบไตรภูมิพระร่วง คือเชื่ออย่างแน่นแฟ้นว่า ชีวิตเราดันเกิดมาใน “ขาลง” ทุกที ยุคทองล้วนแต่ผ่านพ้นไปแล้ว ฉะนั้นไม่มีทางอื่น นอกจากยอมรับและประกอบสร้างผลบุญทำทานเพื่อให้ได้ไปเกิดในภพชาติใหม่ที่ดีกว่านี้

ทว่า เรื่องเล่าจากประสบการณ์ใหม่ๆ บางเรื่อง ก็ชวนให้ตั้งคำถามถึงกรอบคิดเดิมๆ และความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงด้วยน้ำมือมนุษย์

เมื่อไม่กี่วันก่อน ผมได้มีโอกาสติดตามพรรคพวกไปชมสวนส้มเขียวหวานที่ย่านรังสิต คลองสิบสาม ตำบลหนองสามวัง อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ของ พี่ตี๋-คุณกิตติวัฒน์ และ คุณกัลย์ทิพา วสุรัฐเดชาพงศ์ พี่เขาทำสวนส้มอินทรีย์ บนพื้นที่ 12 ไร่ ปลูกส้มเขียวหวานพันธุ์บางมดและพันธุ์เขียวดำเนินไว้ร่วม 1,000 ต้น วันที่ไปนั้น พันธุ์เขียวดำเนินยังไม่ได้ที่พอจะเก็บผล มีแต่เขียวหวานบางมด ซึ่งพี่ตี๋ก็ออกตัวว่ายังไม่ค่อยเต็มที่ดีนัก

“บางมดนี่ต้องระยะ 11 เดือนหลังออกดอกนั่นแหละ ถึงจะหวานอร่อยเต็มที่”

พี่ตี๋ เล่าว่า ตนเองนั้นพื้นเพเคยทำสวนส้มที่ “บางมด” ย่านทุ่งครุ-จอมทอง ธนบุรีมาก่อน แต่ช่วงหลังๆ เมื่อผลผลิตเริ่มด้อยคุณภาพลง จึงได้ย้ายไปทำสวนมะนาว ฝรั่ง ที่จังหวัดกำแพงเพชรใน พ.ศ. 2553-2554 ทว่าก็ประสบปัญหาโรคแมลงรบกวน จนในที่สุดต้องย้ายกลับลงมาทำสวนส้มยังพื้นที่ปัจจุบันนี้ ทำอยู่ 2 ปี สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้น เงินทุนสูญหมดไปกับค่าปุ๋ย-ยาเคมีฉีดพ่น จนต้องเข้าร่วมกองทุนฟื้นฟูฯ และมีโอกาสได้ไปดูงานเกษตรแนวใหม่ในพื้นที่ต่างๆ ทำให้ต้องคิดวิธีการใหม่ทั้งหมด

“เราก็หัวชนฝาครับตอนนั้น เงินก็ไม่มีแล้ว เลยคิดว่าจะลองทำเกษตรอินทรีย์ เริ่มทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงไปรดดิน 5 วัน 7 วัน รดซ้ำไปเรื่อยๆ ทำน้ำปลาหมักเอาไปราดบำรุงดิน บำรุงต้นส้มของเรา ปรากฏว่ามันเริ่มดีขึ้นนะ ค่อยๆ ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเลย ต้นส้มอินทรีย์มันจะแข็งแรง หาอาหารเก่ง พอมันแข็งแรงด้วยตัวของมันเอง เราก็ไม่ต้องฉีดยาเคมี ไม่ต้องปักหลอดยาแก้อักเสบเข้าท่ออาหารตามโคนต้นแบบที่เขาทำเพื่อแก้โรค Citrus Greening ในส้มเลย หนอนชอนใบอะไรนี่ก็ไม่มี ถ้าเป็นแต่ก่อน พอเดือนหงายนี่ ทั้งหนอนชอนใบ ทั้งแมลงต่างๆ เยอะมาก บางคนต้องฉีดยากลางคืนด้วยซ้ำ ของเรานี่เพลี้ยไฟ ไรแดงอะไรตอนนี้ก็ไม่รู้จักแล้ว”

สำหรับสูตรน้ำปลาหมักรดต้นส้ม พี่ตี๋ บอกว่า ใช้กากปลา 100 กิโลกรัม น้ำตาลทรายแดง 30 กิโลกรัม น้ำมะพร้าว น้ำสับปะรด ถ้ามีก็ใส่ไปด้วย หมักทิ้งไว้ 7-10 วัน จะไม่มีกลิ่นเหม็นเลย ใช้รดต้นส้มได้ปลอดภัยดี

ส่วนสูตรยาฉีดกันแมลงนั้น ใช้พริกแกง 2 กิโลกรัม เหล้าขาว 5 ลิตร น้ำส้มสายชู 5 ลิตร น้ำ 10 ลิตร ผสมให้เข้ากัน แล้วใช้ส่วนผสมนี้ 5 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเป็นประจำในรอบ 3-7 วัน เพียงเท่านี้ก็กำจัดหนอน เพลี้ยไฟ ไรแดงได้

“ศัตรูตัวร้ายของสวนส้มก็แมลงวันทองแหละครับ พอช่วง 8-9 เดือนนี่อันตรายแล้ว แมลงวันทองจะเริ่มมา สวนเราแก้โดยเอาลูกเหม็นใส่ขวดพลาสติก เจาะช่องระบายกลิ่น แขวนห้อยไว้เป็นระยะ ก็พอกันได้โดยไม่ต้องฉีดยาเคมีอะไร แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องรีบเก็บผลผลิตครับ เรียกว่าอย่างน้อยใน 10 วันต้องเก็บให้หมดแปลง ถ้ามันลงเสียแล้วนี่แก้ไขลำบาก ส้มจะร่วงเสียหาย ไม่งั้นมีตำหนิ ลูกค้าก็ไม่ซื้ออีก”

ส้มนั้นเป็นที่รู้กันว่าเป็นผลไม้ที่ต้องการการบำรุงและป้องกันแมลงศัตรูพืช ตลอดจนโรคต่างๆ อย่างเข้มงวดตลอดช่วงติดผล ในสวนทั่วๆ ไป การอัดฉีดยาเคมีจึงเป็นไปอย่างเข้มข้นทุกขั้นตอน ผู้ที่เคยไปสวนส้มเคมีขนาดใหญ่ เช่น ในเขตอำเภอเล็กๆ ย่านภาคเหนือตอนบน ย่อมทราบดีถึงมลภาวะอากาศอันเลวร้าย และคุณภาพชีวิตของคนงานในสวนส้ม ซึ่งเป็นทั้งปัญหาสุขภาพมวลรวมประชากร และความเป็นธรรมในการจ้างงานแรงงานข้ามชาติ จึงไม่น่าสงสัยว่า ผลการตรวจสารเคมีตกค้างในส้มโดยองค์กรอิสระอย่าง THAIPAN จะพบสารพิษตกค้างในอัตราสูงระดับต้นๆ ทุกครั้ง ความปลอดภัยในการบริโภคส้มตามท้องตลาดทุกวันนี้ จึงเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกับประโยชน์ด้านโภชนาการที่รับรู้กันมาโดยตลอด

การที่มีเกษตรกรทำสวนส้มอินทรีย์ได้ผลผลิตเพียงพอนำออกจำหน่ายอย่างสม่ำเสมอในระดับหนึ่ง จึงนับเป็นทางเลือกของผู้บริโภคที่ห่วงใยดูแลสุขภาพด้วยตนเอง พี่ตี๋ บอกว่า เขาขายส้มเขียวหวานอินทรีย์อร่อยๆ นี้ในราคากิโลกรัมละ 80-100 บาท หากต้องการสั่งซื้อส้มจากสวน ก็ติดต่อสั่งได้โดยตรงผ่านเฟซบุ๊กของ กิตติวัฒน์ วสุรัฐเดชาพงศ์ หรือโทรศัพท์ 081-041-8069 สอบถามผลผลิตว่าช่วงไหนมีหรือไม่อย่างไรได้ก่อนล่วงหน้า

“ที่จริงผมอยากให้มาดูมาซื้อที่สวนเลยจะดีนะครับ สวนเราก็ไม่ไกลจากเมืองเท่าไหร่ มาเก็บเองได้เลย โดยเฉพาะสวนส้มเขียวดำเนิน เราปลูกเป็นแปลงที่สามารถนั่งเรือเข้าไปเก็บได้อย่างสนุก ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไปนี้ ทั้งเขียวหวานบางมดและเขียวดำเนินของสวนเราจะออกเต็มที่ ได้รสชาติดีตามเวลาของมันแล้วครับ แต่ต้องให้เวลาเราเตรียมพื้นที่ก่อนนะ เพราะสวนเรารกมาก มีแต่หญ้า ที่เราปล่อยให้หญ้าขึ้นนี่ก็เพราะหญ้าไม่ใช่ศัตรูพืชอย่างที่ใครๆ คิด แต่เป็นทั้งพืชคลุมดิน เป็นทั้งปุ๋ยไนโตรเจนให้สวนของเราครับ”

ผมถามว่า ตอนนี้ที่บางมดยังมี “ส้มบางมด” อยู่บ้างไหม พี่ตี๋ บอกว่า ยังพอมีบ้าง แต่เป็นสวนเล็กๆ ขนาดราว 3-5 ไร่ ขายราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 200 บาทก็มี

“รสชาติผมว่าก็เหมือนๆ ของเรานะ มันพันธุ์เดียวกัน ก็ต่างกันนิดๆ หน่อยๆ แต่ที่ผมอยากบอกก็คือ มันมาแปลกที่พันธุ์เขียวดำเนิน พันธุ์นี้ถ้าปลูกแบบสวนเคมีนะเปลือกมันจะหนา เนื้อก็เหนียว แต่พอผมมาทำเป็นอินทรีย์ กลับกลายเป็นว่าเขียวดำเนินสวนหนองเสือของเรานี่อร่อยกว่าเขียวหวานพันธุ์บางมดอีกน่ะ” พี่ตี๋ เล่าให้ฟังอย่างชวนประหลาดใจ

หลายครั้งที่ได้พูดคุยกับคนที่ลงมือทำกสิกรรมด้วยวิธีใหม่ๆ ผมพบว่า สิ่งที่พวกเขาทำได้ มันหลุดพ้นจากวังวนปัญหาเดิมๆ แถมทลายกรอบคิดเก่าๆ ที่กดโอกาสของความเป็นไปได้ไว้ด้วยมายาคติบางอย่างในลักษณะการบีบให้ยอมจำนน ตรงกันข้าม แก่นแกนในปฏิบัติการของเขาเหล่านั้นคือการทดลองข้ามพ้นกำแพงความเชื่อบางอย่าง จนทำให้กับดักอันเดิมแปรสภาพเป็นบันไดให้คนอื่นๆ ก้าวข้ามตามไปได้ในที่สุด

ส้มบางมดอินทรีย์ ที่หนองเสือ ก็คือหนึ่งในเรื่องเล่าจากประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ว่านี้ครับ