รักษาโรคเกาต์ ด้วยสมุนไพรหลากหลาย หาง่ายเลือกใช้ให้เหมาะ

“โรคเกาต์” เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายมีกรดยูริกในเลือดสูงอยู่เป็นเวลานานจนเกิดการตกผลึกของยูเรตตามเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น ข้อ (ทำให้เกิดข้ออักเสบ) ไต (ทำให้เกิดนิ่วในไตและไตวาย) ส่วนสาเหตุที่ทำให้กรดยูริกในเลือดสูงก็เนื่องมาจากร่างกายสร้างกรดยูริกมากกว่าปริมาณที่ขับออก (นอกจากกรดยูริกในเลือดสูงจะเป็นผลมาจากการที่ร่างกายขาดยีนในการสลายกรดยูริกแล้ว ยังพบว่าอาจเป็นผลมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป โดยเฉพาะอาหารที่มีสารพิวรีนสูง และจากกระบวนการสลายสารพิวรีนในร่างกาย โดยการสลายโปรตีนและได้สารพิวรีนออกมา ซึ่งกรดยูริกในร่างกายส่วนใหญ่จะเกิดจากกระบวนการนี้) หรือเกิดจากการที่ร่างกายสร้างกรดยูริกเป็นปกติแต่ปริมาณที่ขับออกจากร่างกายมีน้อยกว่า

กรดยูริกที่สร้างขึ้นจะมีการขับออกจากร่างกายได้ 2 ทางหลัก คือ ขับออกทางระบบทางเดินอาหาร ซึ่งจะขับออกได้ประมาณ 1 ใน 3 และส่วนที่เหลือจะขับออกทางไตได้ประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาณกรดยูริกที่ร่างกายสร้างได้ในแต่ละวัน ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ประมาณ 90% จะมีความผิดปกติในการขับกรดยูริกออกทางไต

การรักษาด้วย สมุนไพรรักษาโรคเกาต์ เราอาจเริ่มจากสมุนไพรที่ช่วยบำรุงไตให้แข็งแรง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของไตให้ดีขึ้นจนสามารถขับกรดยูริกออกจากร่างกายได้เป็นปกติ ซึ่งก็ตรงกับการรักษาของแพทย์แผนจีนที่ให้ความสำคัญกับการบำรุงไตในการรักษาโรคเกาต์ สำหรับสมุนไพรที่ช่วยบำรุงไต ได้แก่

เห็ดหลินจือ ช่วยฟื้นฟูการทำงานของไต สร้างสมดุลของระบบภูมิคุ้มกัน ลดการอักเสบของไต และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบหมุนเวียนโลหิต

เห็ดหลินจือ

หญ้าใต้ใบ มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ สามารถขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะได้ และช่วยกระตุ้นสมรรถภาพการทำงานของไตให้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเกาต์ยังต้องเผชิญกับการปวดตามข้อต่างๆ และการอักเสบที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา สมุนไพรในส่วนที่ช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บปวดและอักเสบ เช่น

ขมิ้นชัน ช่วยลดอาการปวดข้อ จึงบรรเทาปวดข้อ ซึ่งเป็นอาการปกติที่คนเป็นโรคเกาต์ทั่วไปเป็นกัน และป้องกันการอักเสบได้เป็นอย่างดี

เถาวัลย์เปรียง เป็นสมุนไพรที่คนไทยรู้จักกันดีว่ามีประโยชน์ในด้าน แก้อาการปวดเมื่อยต่างๆ บำรุงกำลัง และยังมีผลการวิจัยจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันสรรพคุณดังกล่าวด้วยคือ แก้ปวดเมื่อย แก้กล้ามเนื้ออักเสบ เราสามารถใช้เถาวัลย์เปรียงแทนยาแก้อักเสบแผนปัจจุบันได้ โดยไม่มีผลข้างเคียงต่อร่างกาย นอกจากนี้ ยังพบว่า เถาวัลย์เปรียงช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย ช่วยสร้างเม็ดเลือดขาว รักษาผู้ที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมได้อีกด้วย เมื่อรับประทานเถาวัลย์เปรียงอาจทำให้ปัสสาวะบ่อยซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการช่วยขับกรดยูริกออกมาทางปัสสาวะได้อีกทางหนึ่ง

ใบยอ สามารถแก้ปวดข้อได้ แต่ไม่ควรรับประทานสดๆ เนื่องจากมีสารที่เป็นพิษ ปัจจุบันมีงานวิจัยใบยอด้วยการนำใบยอไปย่างไฟแล้วนำมาประคบบริเวณข้อที่ปวดจากโรคเกาต์ นาน 15-20 นาที ทำวันละ 2-3 ครั้ง ต่อเนื่องไป อาการปวดจะค่อยๆ ดีขึ้น สามารถทำให้อาการปวดลดลงได้ เป็นวิธีง่ายๆ ที่สามารถทำเองได้ที่บ้าน

หญ้าหนวดแมว

หญ้าหนวดแมว สมุนไพรอย่างหญ้าหนวดแมวที่มีสรรพคุณในการขับกรดยูริก หญ้าหนวดแมวมีเกลือโพแทสเซียม ช่วยในการขับปัสสาวะและขยายหลอดไตให้กว้าง ช่วยขับกรดยูริกเนื่องจากหญ้าหนวดแมวทำให้ปัสสาวะเป็นด่าง ผู้ที่รับประทานหญ้าหนวดแมวจะมีการขับกรดยูริกออกมาทางปัสสาวะเพิ่มขึ้นและทำให้ปัสสาวะเป็นด่าง ทำให้กรดยูริกตกตะกอนน้อยลงด้วย

มะเฟืองเปรี้ยว

มะเฟืองเปรี้ยว เป็นสูตรที่บอกต่อกันมาแต่โบราณเฉพาะกลุ่ม ใช้มะเฟืองเปรี้ยวสุก 1 ผล น้ำผึ้งแท้ 1 ช้อนโต๊ะ ใส่เกลือป่นเล็กน้อย ผสมน้ำต้มสุก 2 แก้ว ปั่นให้เข้ากัน ดื่มครั้งละเกือบเต็มแก้วเช้าเย็นก่อนอาหาร ติดต่อกัน 6 วัน (ที่มา : เพจเกษตรอินทรีย์ เออีซี ฟาร์ม)

นอกจากการรับประทานสมุนไพรรักษาโรคเกาต์ จะช่วยบรรเทาอาการของโรคได้ แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่ผู้ป่วยโรคเกาต์ควรระวัง เช่น การรับประทานอาหารที่มีพิวรีน (Purines) สูงๆ เช่น ตับอ่อน ตับ ม้าม ลิ้น เครื่องในสัตว์ กะปิ ไข่ปลา ปลากระป๋อง น้ำเกรวี อาหารเหล่านี้ควรงดรับประทาน เพราะสารพิวรีนเมื่อถูกย่อยสลายแล้วจะกลายเป็นกรดยูริก เราจึงไม่ควรเพิ่มสารชนิดนี้ให้กับร่างกาย ส่วนเนื้อสัตว์ เบียร์ ข้าวโอ๊ต ผัก (หน่อไม้ฝรั่ง กะหล่ำดอก เห็ด) อาหารทะเล อาหารกลุ่มนี้ควรลดปริมาณการรับประทานให้น้อยลง ก็จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ การเจ็บปวดก็จะน้อยลง เราก็สามารถใช้ชีวิตได้ไม่ลำบาก

นอกจากนี้ ยังมีตำรับยาพื้นบ้าน รักษาเกาต์ สูตรหมอยาไทยที่มีการสั่งสมภูมิปัญญา กลั่นกรองจากชุดประสบการณ์ เพื่อใช้รักษาอาการดังกล่าว จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้เราได้ใช้ดูแลตนเองเบื้องต้น

 

หัวรากสามสิบ

ตำรับยาพื้นบ้านรักษาเกาต์

ใบมะละกอ ล้างน้ำให้สะอาด นวดเอาแต่น้ำดื่มประมาณ 1 ถ้วยชา ดื่มวันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น หรือนำใบมะละกอหั่นฝอยตากแห้ง นำใบมะละกอที่แห้งแล้ว 1 หยิบมือ ชงดื่มเหมือนน้ำชา

ว่านหางจระเข้ มายำรับประทาน นำว่านหางจระเข้มาล้างให้สะอาด ตัดส่วนที่เป็นหนามๆ ด้านข้างทิ้ง แล้วสับว่านหางจระเข้ให้ละเอียด ผสมกับน้ำผึ้งรับประทาน ว่านหางจระเข้ 2 ช้อนโต๊ะ ใส่น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ จะช่วยในการระบาย

ดอกลีลาวดี ต้มน้ำดื่ม ยำรับประทาน หรือนำดอกลีลาวดีตากแห้งหั่นบางๆ คลุกกับน้ำตาลปี๊บก้อนผสมกับเทียนทั้งห้า อย่างละนิดละหน่อย

หัวรากสามสิบ นำมาต้มดื่มหรือตากแห้งตำผงชงดื่มหรือแช่น้ำผึ้งรับประทาน หรือตากแห้งหั่นบางๆ คลุกกับน้ำตาปี๊บก้อนผสมกับเทียนทั้งห้าอย่างละนิดละหน่อย

หญ้าหนวดแมว หญ้าแผ่นดินเย็น ผักปลาบ หรือหญ้าปักกิ่ง เอาต้นมานึ่ง นวดตากแห้งทำวิธีเดียวกับชา พอแห้งแล้วนำมาชงดื่มเป็นประจำ

ขอบคุณข้อมูล : www.clinicherbs.com และเฟซบุ๊ก สมุนไพรอภัยภูเบศร