ผ้าทอตีนจกแม่แจ่ม ผลงานนักเรียน โรงเรียนบ้านทัพ

โรงเรียนบ้านทัพ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่เขต 6 เห็นความสำคัญของวัฒนธรรมของชุมชนเล็กๆ หลังขุนเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย คือ ดอยอินทนนท์ ในเรื่องของการทอผ้าตีนจก จึงได้นำมาถ่ายทอดให้นักเรียนได้เรียนรู้วัตนธรรมอันคุณค่าเชิงศิลปะ ของชุมชนให้นักเรียนได้เรียนรู้ เนื่องจากเป็นวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าที่ควรอนุรักษ์ไว้ตลอดไป

โรงเรียนบ้านทัพ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสาน ให้แก่เยาวชน การถ่ายทอดภูมิปัญญาจากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ ถือว่าเป็น หน้าที่ที่สำคัญของการศึกษาที่มีต่อสังคม

เพื่อให้นักเรียนมีความรู้และทัศนคติที่ดีต่อการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น พร้อมให้นักเรียนมีพื้นฐานการงานอาชีพและการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ รวมทั้งพัฒนาอาชีพในท้องถิ่น จนปัจจุบันโรงเรียนบ้านทัพ เป็นโรงเรียนนำร่องที่จัดให้มีการเรียนการสอนในหลักสูตรท้องถิ่น เรื่อง “การทอผ้าตีนจก”ในโรงเรียน โดยมีวิทยากรภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญ

วัสดุ-อุปกรณ์พื้นฐานสำหรับทอผ้า

1.กี่ คืออุปกรณ์หลักที่สำคัญของการทอผ้า มีลักษณะเป็นโครงไม้ที่ใช้ขึงเส้นฝ้ายในการทอผ้าและเป็นที่นั่งสำหรับผู้ทอ

2.กระสวย ใช้สำหรับใส่หลอดด้ายซึ่ง นำไปเป็นเส้นพุ่งขวางกับเส้นยืน

3.ฟืม เป็นอุปกรณ์ที่ใช้จัดเรียงเส้นด้ายในแนวยืนและใช้เป็นเครื่องมือในการกระแทกให้เส้นฝ้ายพุ่งยึดติดแน่นเป็นเนื้อเดียวกัน จะติดอยู่กับส่วนที่เรียกว่า ขอบฟืม ซึ่งติดอยู่กับกี่ทอผ้า ฟืมจะมีหลายขนาด เรียกขนาดของฟืมว่า หลบ (1 หลบ มี 4 อ่าน)

4.พะขอ ใช้สำหรับจัดเรียงเส้นด้าย (ฮ้วน) ให้ได้ความกว้างยาวตามต้องการ นอกจากนี้ยังช่วยในการจัดเรียงสีและลายผ้า

5.บะกวัก เป็นอุปกรณ์ที่ใช้กรอเส้นฝ้ายก่อนนำไปฮ้วน หรือพันใส่หลอด หรือ พะขอ

6.อีด ใช้หนีบเอาเมล็ดฝ้ายออก

7.สะลุ่ม เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการรองรับปุยฝ้ายที่เกิดจากการยิงฝ้าย

8.ขนหมู ใช้ในการหวีเส้นฝ้ายที่ขึงในกี่ (หูก) ให้เรียงอย่างเป็นระเบียบ ง่ายต่อการทอ และทำให้ผืนผ้าเรียบ สวยงาม

กระบวนการทอผ้าตีนจกแม่แจ่ม

1.นำดอกฝ้ายมาตากให้แห้ง

2.ดอกฝ้ายที่ตากแห้งแล้ว นำไปอีดเพื่อให้เกิดฟองปุยฝ้าย โดยใช้สลุ่น-ธนูยิงปุยฝ้าย

3.นำฟองปุยฝ้ายไปทำหะหรูหรี เพื่อนำไปปั่น

4.ปั่นฝ้ายให้เป็นเส้นด้ายโดยใช้เผี่ยน

5.นำเส้นด้ายที่ปั่นได้ไปย้อมสีตามใจชอบและผสมน้ำข้าว

6.นำเส้นดายที่ย้อมแล้วไปฮ้วนเพื่อให้เส้นด้ายเป็นระเบียบ โดยใช้กวงและพะขอ เสร็จแล้วนำไปสืบบนกี่

7.ใช้เส้นด้ายเป็นเส้นยืน เพื่อที่จะกระสวยและเหล็กแหลม (ขนเม่น) สอดจกให้เกิดลวดลายที่สวยงาม เป็นลายจกต่างๆ ที่เกิดจากจินตนาการของผู้ทอผสมผสานกับศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น ทอให้ได้ความยาว ตามความต้องการแล้วนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

วิธีการทอผ้าตีนจก

1.เตรียมอุปกรณ์ในการทอผ้า

2.ด้ายเส้นยืดที่ฮ้วนไว้แล้ว ด้ายเส้นยืนสีดำ 2 หลบ 8 อ่าน (112 เส้น) ด้านเส้นยืนสีแดง 3 หลบ 2 อ่าน (128 เส้น) รวมทั้งหมด 240 เส้น

3.นำด้ายเส้นยืนมาสืบต่อ กับตอด้ายเดิม ที่ฟืมบนกี่สืบต่อครบทุกเส้น

4.เริ่มทอจกโดยทอทึบไว้ประมาณ 1 นิ้วจกลวดลายตามแม่แบบที่จะจก

5.ใช้ขนเม่นหรือเหล็กแหลมควักเส้นด้ายสอดเว้นไปมา ตามลวดลายและทอจากด้านหลังคว่ำลายลง การเก็บเส้นด้ายแน่น เรียบทอไปจนเสร็จ ผืนยาวประมาณ 1.70-1.80 เมตร หรือตามความต้องการในท้องตลาดหรือผู้ที่สั่งซื้อ

ผลงานของโรงเรียน

ที่ผ่านมาทางโรงเรียน เป็นตัวแทนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่เขต 6 นำเสนอผลงานโรงเรียนนำร่องเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาด้านอาชีพสำหรับเด็กด้อยโอกาสบนพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร พร้อมทั้งแสดงผลงาน ผ้าตีนจก งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ รวมทั้งรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดแข่งขันทอผ้าและจกหน้าหมอน งานเทศกาลผ้าซิ่นตีนจก ครั้งที่ 18 ประจำปี 2554

สำหรับท่านใดต้องการชมผ้าทอตีนจกแม่แจ่ม สอบถามรายละเอียดได้ที่ โรงเรียนบ้านทัพ หมู่ที่ 5 ต.ท่าผา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ โทร.053-458204