สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่ง “ขอตามรอยพระยุคลบาท ในหลวง รัชกาลที่ 9 เรื่องอนุรักษ์ป่าไม้”

เป็นที่ทราบกันดีว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจหนักมาตลอด โดยเริ่มจากการตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ไปทุกภูมิภาค ทำให้พระองค์ทรงรับรู้ถึงสารพัดปัญหาในประเทศไทย และเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าทรงพระปรีชาสามารถและทรงรอบรู้ในหลากหลายสาขา จนทรงได้รับการยกย่องเชิดชูจากองค์กรระดับโลกหลายองค์กร พร้อมกันนั้นยังทรงให้ความสนพระทัยในศาสตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การศึกษา ดนตรี ศิลปวัฒนธรรม เกษตร และสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

 

ทรงแนะ ต้องรับมือความท้าทายใหม่ๆ

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ที่ผ่านมา ทรงเป็นองค์ประธานเปิดงานสำคัญๆ สองงานที่ล้วนเกี่ยวเนื่องกันและมีความสำคัญยิ่งต่อผู้คนในโลกใบนี้ งานแรกเป็นงานใหญ่ระดับโลก นั่นคือ งานประชุมวิชาการนานาชาติและนิทรรศการเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านเกษตรและเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (International Conference on Sustainable Agriculture and Bioeconomy 2017 หรือ แอ็กไบโอ AgBio 2017) จัดโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ไบเทค บางนา

งานที่สองทรงเป็นองค์ประธานในงานสัมมนา “รักษ์ป่าน่าน” ครั้งที่ 3 ที่ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ซึ่งมีธนาคารกสิกรไทยเป็นเจ้าภาพหลัก

ย้อนกลับไปยังงาน แอ็กไบโอ มีรับสั่งเปิดการประชุม ความว่า การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพโลก (bioeconomy) เป็นทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งอนาคตของทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่มุ่งสู่การเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายและผลผลิตทางการเกษตรที่มีอยู่มากของแต่ละประเทศด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งในส่วนอาหาร ผลิตภัณฑ์สุขภาพและการแพทย์ และผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น จึงต้องใช้ทรัพยากรความหลากหลายอย่างเหมาะสม ไม่ให้เกิดความสิ้นเปลืองโดยไร้ประโยชน์หรือไม่คุ้มค่า และการผลิตสินค้าเกษตรที่คำนึงถึงความยั่งยืนเพื่อมุ่งสร้างประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต อย่างไรก็ดี โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ส่งผลกระทบทั้งด้านบวก คือการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในสังคม

ขณะเดียวกันการพัฒนาก่อให้เกิดผลด้านลบ เช่น ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ วิกฤติอาหารและพลังงาน การระบาดของโรค และภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากกว่าเดิม ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะช่วยรับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว คำถามที่สำคัญคือ เราจะปรับตัวอย่างไร ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างเท่าทันกับความท้าทายใหม่ๆ ที่จะใหญ่ขึ้น ซับซ้อนขึ้น และรุนแรงขึ้น

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแนะนำว่า การจัดการกับปัญหาหลายเรื่องต้องอาศัยกรอบความคิดใหม่และวิธีการทำงานเชิงรุกมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาระยะยาว เน้นมิติที่สมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่กันไปด้วย เพื่อช่วยผลักดันให้การพัฒนาประเทศขับเคลื่อนไปในแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“การพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักวิชาการ ภาคเอกชน และประชาชน ดังนั้น จำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องทราบและเข้าใจหลักการเห็นประโยชน์ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำแนวคิด พอประมาณและมีเหตุมีผลมาใช้ จะช่วยให้เรามีรากฐานที่แข็งแรงสำหรับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อนำไปสู่การสร้างรากฐานของประเทศด้วยเช่นกัน”

 

รับสั่งถึงสาเหตุการบุกรุกป่า

สำหรับการสัมมนาเชิงวิชาการ โครงการ “รักษ์ป่าน่าน ครั้งที่ 3” ที่มีการจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “พระผู้ทรงอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ไทย” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ไทย” โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ป่าไม้จะเจริญเติบโตสมบูรณ์ได้ต้องมีน้ำ มีการจัดการน้ำ เมื่อมีน้ำก็มีความชุ่มชื้น ดินดี มีปุ๋ย พืชพรรณต้องอยู่เป็นระบบนิเวศที่พึ่งพากัน ต้องอาศัยสัตว์กินถ่ายมูล กระจายเมล็ด ขณะเดียวกันประชาชนจะอยู่ได้ต้องมีที่พักอาศัย มีที่ทำกิน เพื่อไม่ให้เขารุกที่ป่า

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานเปิดงานประชุมวิชาการนานาชาติและนิทรรศการเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านเกษตรและเศรษฐกิจฐานชีวภาพ

“ปัญหาการตัดไม้ในปัจจุบันคือ คนมีจำนวนมากขึ้น มีการเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัย ทำให้มีการบุกรุกทำลายป่ากันมากขึ้น สมัยก่อนก็บุกรุก คนที่ทำสัมปทานป่าไม้จะต้องดูแล เมื่อตัดไปเท่าไรต้องปลูกคืนกลับไปตามข้อกำหนด ต้นไม้ปัจจุบันไม่ได้เป็นป่าธรรมชาติ แต่เป็นป่าที่ปลูกทดแทนที่หายไป ประเทศไทยมีการลักลอบตัดต้นไม้ที่มีคุณค่า คนตัดไม้ใช้เลื่อยไฟฟ้า หรือการตัดที่โคนต้นเพื่อให้ต้นตาย แล้วอ้างว่าไม่ได้ตัดไม้ มันตายเอง บางคนไม่ได้อยากเอาไม้ แต่อยากได้ที่ดิน ก็ทำการเผา ต้องพยายามแก้เรื่องนี้”

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งอีกว่า จากการตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชไปตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย สังเกตว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง ตามเสด็จไปด้วย ทั้งป่าไม้ งานเกษตร ชลประทาน พัฒนาที่ดิน กรมแผนที่ทหาร สะท้อนให้เห็นว่า การทำงานเพื่อความผาสุกของราษฎร ไม่ใช่ว่าพวกใดพวกหนึ่งจะทำได้โดยไม่ปรึกษาคนอื่น

ในการบรรยายครั้งนี้ ทรงยกตัวอย่างศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 ศูนย์ ทั่วประเทศ ที่อยู่ในสภาพภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน แต่มีโครงสร้างปัญหาคล้ายๆ กัน คือเรื่องของป่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ปัญหา และใช้พื้นที่เป็นหลักในการศึกษาและแก้ปัญหาแบบบูรณาการ เพื่อสร้างความยั่งยืน และมีพระราชดำรัสให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาทำหน้าที่เสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติมีชีวิต ให้ประชาชนเข้าไปเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าถึงป่าทดลองแห่งแรกว่า เมื่อต้นรัชกาล พระองค์เสด็จฯแปรพระราชฐานไปวังไกลกังวล ขณะเสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งผ่าน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ทรงสังเกตเห็นต้นยางนาขนาดใหญ่ปลูกเรียงรายทั้งสองข้างทาง จึงมีพระราชดำริที่จะสงวนไม้ยางนาไว้ โดยทรงให้นำเมล็ดไม้ยางนามาเพาะเลี้ยงไว้ที่แปลงเพาะชำ บริเวณที่ประทับสวนจิตรลดา

ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพันธุ์ไม้ต่างๆ ทั่วประเทศมาปลูกเพิ่มเติมในลักษณะป่าไม้สาธิต เช่น หวายพันธุ์ต่างๆ รวมทั้งต้นไม้ที่อยู่ในวังมานานแล้ว เช่น ขนุนทักษิณ เป็นการจำลองป่าไม้เพื่อให้ประชาชนเข้ามาศึกษาได้

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสรับสั่ง เมื่อปี พ.ศ. 2519 ว่า ควรปลูกต้นไม้ลงในใจคนก่อน โดยสอนตั้งแต่เด็กๆ ให้ชินกับการอนุรักษ์ป่าที่นิยมทำกันก็คือ การร้องเพลง ถ่ายภาพ วาดรูป เพราะเมื่อปลูกต้นไม้ลงในใจคนเหล่านั้นแล้ว เขาก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง”

ในส่วนของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งว่ามีพระราชดำริให้ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือ การปลูกป่าในเชิงผสมผสาน

การปลูกไม้ 3 อย่าง แต่ได้ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ โดยรองรับการชลประทาน ปลูกรับซับน้ำ และปลูกอุดช่องตามรอยห้วย เพื่อรับน้ำฝนอย่างเดียว ประโยชน์อย่างที่ 4 คือ ชะลอน้ำป้องกันดินถล่ม และทรงแนะนำการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และทำตลาดให้ชาวบ้าน ปัจจุบัน ชาวบ้านมีความรู้ เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ หรือเกษตรกรดีเด่น พร้อมแบ่งปันความรู้ให้ชุมชนอื่น

 

สร้างป่า สร้างรายได้

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งต่อว่า “ข้าพเจ้าขอตามรอยพระยุคลบาทเรื่องการอนุรักษ์ป่าไม้ โดยได้ทำโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช มีการจัดทำฐานข้อมูลพันธุ์พืชของประเทศไทยในระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ดึงข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ ตลอดจนถ่ายทอดความรู้นี้สู่สถาบันอุดมศึกษา อาชีวะ และชั้นอนุบาล ทุกคนได้เรียนรู้ตามภูมิปัญญาและโอกาสของตนเอง”

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยาย เรื่อง “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระผู้ทรงอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ไทย”

“ส่วนสร้างป่าสร้างรายได้ ข้าพเจ้าดำเนินการมา 5 ปี ซึ่งยึดแนวพระราชดำริ โดยประชาชนไม่จำเป็นต้องตัดต้นไม้ใหญ่ แต่ปลูกพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ นอกจากนี้ ยังมีโครงการชาน้ำมันที่เชียงราย ลดการขยายพื้นที่และตัดป่า แต่ต้องหารือกันดีๆ ระหว่างฝ่ายพัฒนากับกรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ ว่าจะอนุญาตให้ปลูกพืชในพื้นที่ใดได้ ไม่จำเป็นต้องตัดไม้ แต่ให้ปลูกพืชที่มีราคา และต้องช่วยเรื่องการขนส่งและการตลาด”

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งอีกว่า “ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส ทรงใช้เวลาในการศึกษาเช้าจรดค่ำ เช้าจรดดึก ปูพรมทุกหมู่บ้าน ทรงขับรถไปเอง ที่นี่ก่อตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยว ดินทราย ดินดาน เพื่อให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกได้ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าพรุที่เหลืออยู่ในบริเวณนั้นด้วย โดยมีการกำหนดเป็นเขตสงวน เขตอนุรักษ์ และเขตพัฒนา ปัจจุบัน พื้นที่คืนสภาพกลับมาใช้ประโยชน์ได้

“การทรงงานด้านป่าไม้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 คือ ต้องรักษาป่าไม้ พัฒนาคุณภาพดิน แหล่งน้ำ พัฒนาสัตว์ พืช และพัฒนาการศึกษา ทุกอย่างต้องทำร่วมกัน ในที่สุดการพัฒนาคนให้มีสุขภาพดี ความเป็นอยู่ดี มีความรู้ มีความสุข เพื่อให้ช่วยกันรักษาบ้านเมืองสืบต่อไป”

ทั้งนี้ ภายหลังทรงบรรยายเสร็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรแพะพันธุ์แบล็กเบงกอลที่พระราชทานแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมการให้เกษตรกรจังหวัดน่านเลี้ยงแพะดังกล่าว โดยให้สถานีวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีผาสิงห์ เป็นผู้อบรม

พร้อมกันนั้น ยังได้ทอดพระเนตรนิทรรศการของหน่วยงานที่ร่วมโครงการอนุรักษ์ป่าน่าน อาทิ นิทรรศการงานอนุรักษ์ทรัพยากรปลาในลุ่มน้ำน่านของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ที่ได้ศึกษาวิจัยพันธุ์ปลาที่มีจำนวนลดลง เช่น “ปลาเลียหิน” และพันธุ์ปลาที่พบเฉพาะในลุ่มน้ำน่าน เช่น ปลาค้างคาวติดหินน้ำตกศิลาเพชร และปลาผีเสื้อติดหินแม่น้ำน่าน ซึ่งจำนวนปลาเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับสภาพความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ในเมืองน่าน