การผลิตผักอินทรีย์ อยู่ที่การจัดการธาตุอาหารดินและการจัดการศัตรูพืชที่เหมาะสม

ความต้องการสินค้าและผลิตภัณฑ์อินทรีย์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นสินค้าที่ได้รับการยอมรับว่า มีความปลอดภัยสูงทั้งต่อผู้บริโภค ผู้ผลิต และสิ่งแวดล้อม มีความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ หน่วยงานต่างๆ ในภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรต่างก็สนับสนุนให้มีการผลิตสินค้า พืชผัก และผลิตภัณฑ์อินทรีย์กันมากขึ้น

คุณนิยม ไข่มุกข์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม (ยืนข้างหน้า) กับเกษตรกรเจ้าของแปลงผักที่เข้าร่วมโครงการเกษตรอินทรีย์ อำเภอศรีสงคราม

คุณนฤทัย วรสถิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น (สวพ. 3) กล่าวว่า ในปี 2560 ประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ เป็นเงิน 1,817 ล้านบาท มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 570,409 ไร่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 59 ปลูกข้าวอินทรีย์ ส่วนพืชไร่และพืชผสมผสานมีเพียงร้อยละ 15 และ 13 เท่านั้น

คุณนฤทัย กล่าวต่อไปว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนที่ทำเกษตรอินทรีย์ยังมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด และส่วนใหญ่ยังไม่ได้มาตรฐาน ในปี 2557 มีการรับรองมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์เพียง 41 แปลง เท่านั้น คิดเป็นร้อยละ 24 ของจำนวนแปลงที่เข้าตรวจ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ต่ำมาก เนื่องจากการผลิตไม่เป็นตามข้อกำหนดของมาตรฐานของสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช 2557

คุณคำตา จันทะ เกษตรกรเจ้าของแปลงต้นแบบเกษตรอินทรีย์ นำผลผลิตมาขายที่ตลาดประชารัฐ ธ.ก.ส. อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม

จังหวัดนครพนมและจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดที่ตั้งเป้าหมายให้เป็นแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ แต่ประสบปัญหาในด้านการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบาดของศัตรูพืชและผลผลิตต่ำ เนื่องจากดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาฬสินธุ์ และ สวพ. 3 จังหวัดขอนแก่น ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จึงดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาการผลิตผักอินทรีย์ในพื้นที่สองจังหวัดดังกล่าว โดยเริ่มในปี 2559 จนถึงปี 2562

คุณนิยม ไข่มุกข์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม หัวหน้าคณะทำงานศึกษาวิจัยพัฒนาการผลิตผักอินทรีย์ จังหวัดนครพนมและจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า จังหวัดนครพนมและจังหวัดกาฬสินธุ์มีศักยภาพในการทำเกษตรอินทรีย์ มีการผลิตพืชหลากหลายและผสมผสาน

แปลงต้นแบบเกษตรอินทรีย์ผักกาดหอม บ้านหนองบาท้าว อำเภอศรีสงคราม

“จังหวัดนครพนม ผลิตผักตระกูลกะหล่ำ หอมแบ่ง ผักกาดหอม ผักชี แตงร้าน พริก และมะเขือเทศ ส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ผลิตผักกินใบ ได้แก่ กวางตุ้ง คะน้า กะหล่ำปลี และหน่อไม้ฝรั่ง ทั้งสองจังหวัดมีพื้นที่และแหล่งน้ำเพียงพอ มีระบบการผลิตที่พึ่งพาตนเองได้ สามารถเพิ่มและสร้างช่องทางการตลาดได้”

คุณนิยม กล่าวต่อไปว่า แต่เกษตรกรยังขาดความรู้ด้านการผลิตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ การปรับปรุงบำรุงดินที่เหมาะสม การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่เป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดินที่จะช่วยบำรุงพืชให้งอกงามได้ผลผลิตดี ขาดความรู้ในการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพ ปัญหาโรครากเน่า โคนเน่า โรคใบจุด ด้วงหมัดผัก และหนอนผีเสื้อในพืชตระกูลกะหล่ำ และหอมแบ่ง

แปลงต้นแบบเกษตรอินทรีย์ผักกวางตุ้ง

คุณนิยม บอกว่า ศูนย์ได้ดำเนินการประชุมกลุ่มเกษตรกร โดยเลือกพืชที่เป็นพืชหลักของกลุ่มและประสบปัญหามากที่สุด ร่วมกันวางแนวทางในการพัฒนาการผลิตให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน จัดทำแผนในการแก้ปัญหา และคัดเลือกเกษตรกรที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการ

จากการทดสอบเทคโนโลยีการจัดการธาตุอาหารและศัตรูพืชสำหรับการผลิตผักอินทรีย์ สรุปได้ดังนี้

การจัดการธาตุอาหารที่เหมาะสม การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ สำหรับผักกวางตุ้งและหอมแบ่ง ถ้าเป็นดินที่มีอินทรียวัตถุในดินน้อยกว่า 1.5% ให้ใส่ปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ อัตรา 2.8 ตัน ต่อไร่

แปลงผักเกษตรอินทรีย์ ที่บ้านหนองบาท้าว อำเภอศรีสงคราม

สำหรับผักกะหล่ำปลี คะน้า และกวางตุ้ง ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จะทำปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศในดินที่มีอินทรียวัตถุต่ำ ให้ใส่ปุ๋ยหมักเติมอากาศ อัตรา 2 ตัน ต่อไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง หลังย้ายปลูก 10 วัน และ 30 วัน

การจัดการศัตรูพืชที่เหมาะสม โดยการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ผสมปุ๋ยหมักคลุกดิน หรือรองก้นหลุมพร้อมปลูก การควบคุมโรค รากเน่า โคนเน่า ของหอมแบ่ง ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา อัตรา 100 กรัม ต่อตารางเมตร หากพบโรคใบจุดหรือใบไหม้ ฉีดพ่นด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา อัตรา 100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

ในกะหล่ำปลี กวางตุ้ง และคะน้า ควบคุมโรคเน่า โคนเน่า โดยรองก้นหลุมด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา อัตรา 10 กรัม ต่อวัน ควบคุมด้วงหมัดผัก หนอนกระทู้ผัก หนอนใยผัก หนอนคืบกะหล่ำใช้ไส้เดือนฝอย 10 ถุง ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 3-5 วัน ติดต่อกัน 3 ครั้ง

สำหรับกะหล่ำปลี นอกจากจะพ่นด้วยไส้เดือนฝอยแล้ว ให้พ่นสลับกับ บีที ที่อัตรา 60 มิลลิกรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 3-5 วัน ติดต่อกัน 3 ครั้ง

แปลงผักต้นแบบเกษตรอินทรีย์

การพัฒนาเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์

คุณนิยม กล่าวว่า ได้ดำเนินการในแปลงของเกษตรกรที่เป็นแปลงต้นแบบและแปลงขยายผล ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดนครพนม จำนวน 18 แปลง พื้นที่ 67.5 ไร่ ได้ผลผลิตประมาณ 101 ตัน และที่จังหวัดกาฬสินธุ์ 23 แปลง พื้นที่ 336 ไร่ ผลผลิตประมาณ 572 ตัน

จากนั้นได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชอินทรีย์และความรู้ที่เกี่ยวข้องให้กับเกษตรกรทั้งสองจังหวัด เป็นจำนวน 3,448 ราย ทำให้เกษตรกรสามารถผลิตพืชได้อย่างปลอดภัยและเกิดเครือข่ายผู้ผลิต พืชอินทรีย์ที่จังหวัดนครพนม 4 กลุ่ม 210 ราย ผู้ผลิตผักปลอดภัย 10 กลุ่ม 300 ราย สำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์เกิดเครือข่ายผู้ผลิตพืชอินทรีย์ 22 กลุ่ม793 ราย และกลุ่มผู้ผลิตผักปลอดภัย 23 กลุ่ม 1,291 ราย ทำให้เกษตรกรสามารถผลิตพืชได้อย่างปลอดภัย

แปลงหอมแบ่งของเกษตรกร ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนมเริ่มทำการทดสอบ

นอกจากจะได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์แล้ว ยังมีเกษตรกรที่ได้รับการรับรองการผลิตพืชตามมาตรฐาน GAP ที่จังหวัดนครพนม 831 แปลง/ราย พื้นที่ 2,893 ไร่

จังหวัดกาฬสินธุ์ 713 แปลง/ราย พื้นที่ 3,767 ไร่ ผลผลิตประมาณ 4,055 ตัน ซึ่งอาจพัฒนาการผลิตสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้ในอนาคต

ท้ายที่สุด คุณนิยม กล่าวว่า การผลิตผักอินทรีย์ สำหรับพืชตระกูลกะหล่ำ และหอมแบ่ง ในพื้นที่ที่มีอินทรียวัตถุต่ำ  ต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีธาตุอาหารในปริมาณที่เพียงพอ โดยการใช้ปุ๋ยหมักที่ประกอบด้วยวัสดุอินทรีย์หลายอย่างรวมกัน การควบคุมโรครากเน่า โคนเน่า ของพืชตระกูลกะหล่ำและหอมแบ่ง ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา การควบคุมด้วงหมัดผักและหนอนผีเสื้อกินใบ ใช้ไส้เดือนฝอย หรือ บีที ควบคุมหนอนผีเสื้อกินใบ

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม เลขที่ 144 หมู่ที่ 1 ตำบลขามเฒ่า อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม 48000 โทร. 081-579-2954, 042-532-586 และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาฬสินธุ์ เลขที่ 140 หมู่ที่ 10 ตำบลยางตลาด อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ 46120 โทร. 043-891-33