แม่โจ้โพลล์เผย “ไลน์”เป็นสื่อยอดนิยมที่เกษตรกรไทยเลือกใช้พัฒนาอาชีพเกษตร

แม่โจ้โพลล์ ภายใต้ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร ได้สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรทั่วประเทศ (ภาคเหนือ ร้อยละ 30.86 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 12.14 ภาคกลาง ร้อยละ 26.14 และภาคใต้ ร้อยละ 30.86) จำนวนทั้งสิ้น 593 ราย ระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม -2 มิถุนายน 2560 ในหัวข้อ “เกษตรกรไทย…กับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและความคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมและนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้พัฒนาการเกษตร

ผลการสำรวจพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.90 มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ในชีวิตประจำวัน โดย อันดับ 1 ได้แก่ ไลน์ (ร้อยละ 77.46) รองลงมาคือ เฟซบุ๊ก (ร้อยละ 70.79) และอินสตราแกรม (ร้อยละ 5.68) ส่วนอีกร้อยละ 40.10 ที่บอกว่าไม่มีการใช้ อย่างไรก็ตามพบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.07 ไม่เคยได้รับการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาการเกษตรจากภาครัฐ โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีหน่วยงานใดมาจัดให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มีเพียงร้อยละ 34.93 ที่เคยได้รับการส่งเสริม ได้แก่ การแนะนำให้เกษตรกรมีการค้นคว้าข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับมาตรการและนโยบายต่างๆ การติดต่อข่าวสารกับหน่วยงานเช่น ธกส. และการหาพิกัดพื้นที่การเกษตรของตนเอง เป็นต้น

สำหรับความคิดเห็นต่อประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้พัฒนาการเกษตร พบว่า อันดับ 1 (ร้อยละ 76.23) คือ การหาความรู้ด้านการเกษตรจากเวบไซต์หรือเพจต่างๆ อันดับ 2 (ร้อยละ 51.10) คือ ช่วยในการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรด้วยกัน และอันดับ 3 (ร้อยละ 46.52) คือ การเชื่อมโยงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายให้สะดวกมากยิ่งขึ้น
ด้านปัญหาที่ประสบจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 74.07 ไม่ประสบปัญหาในการใช้เทคโนโลยี เนื่องจากใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำอยู่แล้ว ส่วนอีกร้อยละ 25.93 ประสบปัญหา ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อสูง แหล่งข้อมูลไม่น่าเชื่อถือและปัญหาด้านสายตา

เกษตรกรไทยยังมีข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาล คือ ควรพัฒนาการเชื่อมต่อข้อมูลในท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพ เช่น สัญญา Wifi ฟรี และการพัฒนาเวบไซต์หรือเพจที่มีความน่าเชื่อถือเพื่อให้เกษตรกรได้เข้าไปศึกษาหาความรู้ด้านการเกษตรให้ถูกต้อง รวมถึงควรมีการให้ความรู้และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการเกษตรให้แก่เกษตรกรมากยิ่งขึ้น

จากนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลในปัจจุบัน ภายใต้วิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยมีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนปฏิรูปในด้านต่างๆ เพื่อปรับแก้ จัดระบบ ปรับทิศทาง และสร้างหนทางการพัฒนาประเทศให้เจริญ เพื่อสามารถรับมือกับโอกาสและภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ (ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์) โดยมีเหตุผลสำคัญ ได้แก่ 1.ประเทศไทยไม่เคยปรับโครงการเศรษฐกิจอย่างจริงจังมาก่อน 2.ไม่ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง และ 3.แรงงานขาดทักษะจนกลายเป็นปัญหาความเลื่อมล้ำของโอกาส โดย Thailand 4.0 จะเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจที่ “มุ่งเน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value-Based Economy)”

ซึ่งกลุ่มอาหาร การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เป็น 1 ใน 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายสู่การพัฒนาเป็น Thailand 4.0 โดยมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ การทำการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตรในอดีต ประสบปัญหาหลายด้าน อาทิ ปัญหาประสิทธิภาพทางการผลิตและเกษตรกรมีรายได้ต่ำ ซึ่งมีสาเหตุจากการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลทางการตลาดเพื่อใช้ในการวางแผนการผลิต ทำให้รัฐบาลต้องออกนโยบายเพื่อช่วยเหลือและโอบอุ้มเกษตรกรในช่วงที่ผ่านมา

โดย Thailand 4.0 จะเป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนาการเกษตรใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.การลดต้นทุนการผลิต 2. เพิ่มคุณภาพการผลิตและมาตรฐานสินค้า 3.ลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและศัตรูพืช และ 4.การจัดการและส่งผ่านความรู้ เพื่อมุ่งเน้นการเป็น Smart Farmer ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร นำความรู้เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการฟาร์มให้มีประสิทธิภาพ และสร้างรายได้ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรในระยะยาว

แม่โจ้โพลล์ ภายใต้ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร จึงได้สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรทั่วประเทศ (ภาคเหนือ ร้อยละ 30.86 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 12.14 ภาคกลาง ร้อยละ 26.14 และภาคใต้ ร้อยละ 30.86) จำนวนทั้งสิ้น 593 ราย ระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2560 ในหัวข้อ “เกษตรกรไทย…กับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ” โดยนิยามของเทคโนโลยีสารสนเทศ คือ การสืบค้นและติดต่อสื่อสารที่มีการเชื่อมต่อกับสัญญาณอินเตอร์เน็ต มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและความคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมและนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้พัฒนาการเกษตร ผลการสำรวจพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.90 มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในชีวิตประจำวัน โดย อันดับ 1 ได้แก่ ไลน์ (ร้อยละ 77.46) รองลงมาคือ เฟซบุ๊ก (ร้อยละ 70.79) และอินสตราแกรม (ร้อยละ 5.68) ส่วนอีกร้อยละ 40.10 ที่บอกว่าไม่มีการใช้

เมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาการเกษตรจากภาครัฐ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 65.07 ไม่เคยได้รับการส่งเสริม โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีหน่วยงานใดมาจัดให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล มีเพียงร้อยละ 34.93 ที่เคยได้รับการส่งเสริม การแนะนำให้เกษตรกรมีการค้นคว้าข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับมาตรการและนโยบายต่างๆ การติดต่อข่าวสารกับหน่วยงานเช่น ธกส. และการหาพิกัดพื้นที่การเกษตรของตนเอง เป็นต้น สำหรับความคิดเห็นต่อประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้พัฒนาการเกษตร พบว่า อันดับ 1 (ร้อยละ 76.23) คือ การหาความรู้ด้านการเกษตรจากเวบไซต์หรือเพจต่างๆ อันดับ 2 (ร้อยละ 51.10) คือ ช่วยในการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรด้วยกัน และอันดับ 3 (ร้อยละ 46.52) คือ การเชื่อมโยงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายให้สะดวกมากยิ่งขึ้น และอันดับ 4 (ร้อยละ 32.77) เชื่อมโยงและติดต่อรับข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ด้านปัญหาที่ประสบจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 74.07 ไม่ประสบปัญหาในการใช้เทคโนโลยี เนื่องจากใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำอยู่แล้ว ส่วนอีกร้อยละ 25.93 ประสบปัญหา ได้แก่ 1.ค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อสูง 2.การค้นหาข้อมูลบางแหล่งไม่มีความน่าเชื่อถือ และ 3.ปัญหาสุขภาพสายตาทำให้การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศไม่มีประสิทธิภาพ

ในส่วนของข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมากยิ่งขึ้นนั้นพบว่า อันดับ 1 ควรพัฒนาการเชื่อมต่อข้อมูลในท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพ เช่น สัญญาณ Wifi ฟรี อันดับ 2 การพัฒนาเวบไซต์หรือเพจที่มีความน่าเชื่อถือเพื่อให้เกษตรกรได้เข้าไปศึกษาหาความรู้ด้านการเกษตรให้ถูกต้อง อันดับ 3 ควรมีการให้ความรู้และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการเกษตรให้แก่เกษตรกรมากยิ่งขึ้น

จากผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างพบว่าส่วนใหญ่ที่มีการใช้เทคโนโลยียังคงประสบปัญหา เช่น มีค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อสูงและการเข้ามาส่งเสริมให้ความรู้และการปรับใช้ในการพัฒนาทางการเกษตรยังไม่ทั่วถึง ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเกษตรนี้นอกจากจะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้แก่เกษตรกรแล้ว ยังจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคการเกษตร ให้เป็นเกษตรสมัยใหม่ หรือ Smart farmer และสิ่งสำคัญคือ การยกระดับทั้งคุณภาพชีวิตเกษตรกรและเพิ่มคุณค่าให้แก่สินค้าเกษตรได้