ม.มหิดล ค้นพบกระบวนการกระตุ้นสร้างเกล็ดเลือด ลดวิกฤติขาดแคลนผู้บริจาค

การจะยื้อชีวิตมนุษย์ให้รอดพ้นจากโรคร้าย เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ รวมทั้งโรคที่เกิดจากความเสื่อมต่างๆ ของร่างกาย ฯลฯ ให้กลับมาเหมือนมีชีวิตใหม่อีกครั้ง ด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (stem cell) ซึ่งเปรียบเสมือนเซลล์ต้นแบบที่เป็นจุดกำเนิดแห่งชีวิต เป็นแนวทางการรักษาในอนาคตที่จุดประกายแห่งความหวังของมวลมนุษยชาติ

ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ได้รับการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อเอาชนะลิขิตทางธรรมชาติ ทำให้ปัจจุบันการบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดสามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งนอกจากการเก็บจากไขกระดูกของผู้บริจาคที่ต้องผ่านการตรวจ HLA (Human leukocyte antigen) ที่ผ่านการทดสอบการเข้ากันของเนื้อเยื่อ การเก็บจากเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากหลอดเลือดก็สามารถทำได้แล้วในทุกวันนี้

อย่างไรก็ดี การรักษาด้วยเกล็ดเลือดยังมีความจำเป็นอยู่ในผู้ป่วยกลุ่มโรคเลือด รวมทั้งโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น ไข้เลือดออก รวมทั้งผู้ต้องเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ หากไม่ได้รับการรักษาด้วยการให้เกล็ดเลือดอย่างทันท่วงทีอาจถึงแก่ชีวิต

เบื้องหลังความพยายามที่จะศึกษาวิจัยกระบวนการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเกล็ดเลือดทดแทนการบริจาคเลือดที่ขาดแคลน ดร. เภสัชกรหญิงสุดจิต ล้วนพิชญ์พงศ์ นักวิจัยประจำ SiSCR สำนักงานคณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้คว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานวิจัย ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ประจำปีงบประมาณ 2565 จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ทุ่มเททดลองใช้เทคนิคต่างๆ ที่ใช้เทคโนโลยีทางชีวโมเลกุลขั้นสูง อาทิ เทคนิค CRISPR-Cas9 หรือคริสเปอร์-แคสไนน์ ซึ่งใช้ในการตัดต่อทางพันธุกรรม และเทคนิค RNA-seq ที่ใช้วิเคราะห์การแสดงออกของยีนในร่างกาย ฯลฯ จากการศึกษาในเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่เก็บจากอาสาสมัคร จนสามารถค้นพบกระบวนการซึ่งสามารถกระตุ้นการสร้างเกล็ดเลือด และช่วยให้เข้าใจพยาธิสภาพที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของการสร้างเกล็ดเลือดในห้องปฏิบัติการ ที่อาจนำไปสู่การต่อยอดเชื่อมโยงงานวิจัยในภาคการผลิตได้ต่อไป

“ผู้ป่วยแต่ละรายจำเป็นต้องใช้เกล็ดเลือดจากผู้บริจาคถึง 4-6 คน โดยเกล็ดเลือดที่ได้รับบริจาคแต่ละครั้งสามารถเก็บได้เพียง 5 วัน ซึ่งหากสามารถต่อยอดวิธีการที่ค้นพบนี้สู่ภาคการผลิต นอกจากจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเกล็ดเลือดทดแทนการบริจาคเลือดที่ขาดแคลนได้แล้ว ยังสามารถลดการใช้เกล็ดเลือดที่จะต้องได้รับจากผู้บริจาคหลายรายมารวมกัน” ดร. เภสัชกรหญิงสุดจิต ล้วนพิชญ์พงศ์ กล่าว

การพัฒนานวัตกรรมบนพื้นฐานของปัญหาที่เกิดขึ้นจริงทำให้ได้ผลการวิจัยที่ตรงจุด เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง และอาจสามารถนำไปต่อยอดได้อีกมากมายมหาศาล

Advertisement

ผลงานวิจัยใหม่ๆ สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ เพียงใส่ใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว เช่นเดียวกับการวิจัยเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพเกล็ดเลือด ที่จะเป็นความหวังในการต่อชีวิตผู้ป่วย และลดวิกฤติขาดแคลนผู้บริจาคได้ต่อไป