“บิ๊กป้อม” ระดมทุกหน่วยงานลุยแก้แล้งซ้ำซากลุ่มน้ำสะแกกรัง

“บิ๊กป้อม” ระดมทุกหน่วยงานเร่งบูรณาการขับเคลื่อนแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำและน้ำท่วมของลุ่มน้ำสะแกกรังอย่างมีประสิทธิภาพ ด้านกรมชลประทานขานรับนโยบายเดินหน้าเร่งรัดงานก่อสร้างฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำสะแกกรังและเร่งผลศึกษา SEA โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นปากแม่น้ำสะแกกรัง เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำให้ชาวเมืองอุทัยธานีมีน้ำเพียงพอ

เมื่อเร็วๆ นี้ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาคในพื้นที่ภาคกลาง เป็นประธานการประชุมติดตามแผนงานโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี ตามข้อสั่งการของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยมี นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.จังหวัดอุทัยธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม จากนั้นได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้างานวางท่อขยายเขตจำหน่ายน้ำ ตำบลหนองกลางตง อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาคในพื้นที่ภาคกลาง กล่าวว่า ตามที่ท่านพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และประธานกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 และจังหวัดอุทัยธานีได้ชี้แจงปัญหาเรื่องน้ำและความต้องการของจังหวัด 3 เรื่อง ได้แก่ ขอให้เร่งรัดการพัฒนาอ่างเก็บน้ำมอโค้ อำเภอบ้านไร่ ขอให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายระบบส่งน้ำจากโครงการผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ที่อยู่ระหว่างการศึกษาของ สทนช. มายังพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีและขอให้เร่งพัฒนาการใช้น้ำบาดาลในพื้นที่แล้งซ้ำซาก

นายสมเกียรติ กล่าวด้วยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า จังหวัดอุทัยธานีมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบเชิงเขาจากทิศตะวันตกไปตะวันออก จึงมักประสบปัญหาน้ำป่าไหลหลากในช่วงฤดูฝนและน้ำแล้งในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากมีแหล่งน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ การบริหารจัดการน้ำจึงต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ทำให้เป็นจังหวัดที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค รัฐบาลมีความห่วงใยความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาภัยแล้งเป็นอย่างมาก และได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งไปดำเนินการใน 4 ด้าน ดังนี้

  1. ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเร่งสำรวจความเดือดร้อนและเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรวดเร็วและทั่วถึง
  2. ให้จังหวัดอุทัยธานีเสนอแผนงานโครงการสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้ครอบคลุมในพื้นที่ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยใช้กลไกของคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด พร้อมสร้างการรับรู้และส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่
  3. ให้ สทนช. รับข้อเสนอในความต้องการของจังหวัดทั้ง 3 เรื่องไปบูรณาการร่วมกับกรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลพิจารณาจัดหาน้ำทั้งน้ำบนดินและใต้ดินร่วมกับทุกหน่วยงานและท้องถิ่นและการประปาส่วนภูมิภาคเพื่อก่อสร้างและขยายระบบประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคโดยให้มีแหล่งเก็บน้ำสำรอง ใช้แก้ไขปัญหาในเชิงพื้นที่ในระยะเร่งด่วนและระยะยาว
  4. ให้ สทนช. เร่งบูรณาการขับเคลื่อนแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือในระยะยาวให้เป็นรูปธรรมอย่างเร็วที่สุด

“ได้รับข้อสั่งการจากท่านพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติและประธานกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เร่งรัดโครงการทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยาวในการแก้ปัญหาปัญหาขาดแคลนน้ำและน้ำท่วมของลุ่มน้ำสะแกกรัง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด ซึ่งในการประชุมแต่ละหน่วยงานได้ขานรับนโยบายและรีบไปดำเนินการบูรณการความร่วมมืออย่างเป็นเอกภาพต่อไป” นายสมเกียรติ กล่าว

ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดแผนการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำสะแกกรังว่า ขณะนี้กรมชลประทานได้เร่งรัดจัดทำแผนแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่อุทัยธานีอย่างเป็นระบบทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวให้เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้ขานรับตามข้อสั่งการของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สำหรับสถานการณ์ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง ปัจจุบันมีความต้องการใช้น้ำในช่วงฤดูฝน 250.60 ล้านลูกบาศก์เมตร ฤดูแล้ง 236.74 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำจำนวน 268 โครงการ ความจุรวม 225 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นพื้นที่ชลประทาน 243,200 ไร่ และร้อยละ 14 เป็นพื้นที่เกษตร ส่วนความคืบหน้าในการพัฒนาลุ่มน้ำสะแกกรังสู่โครงการเขื่อนแม่วงก์ขณะนี้มีความก้าวหน้าเป็นลำดับ ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้มีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้นจากรายได้เฉลี่ย 162.180 บาทต่อครัวเรือนต่อปี เป็น 258,85 บาทต่อครัวเรือนต่อปี เพิ่มผลผลิตข้าวจาก 700-740 กิโลกรัม เป็น 860-870 กิโลกรัม ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำได้ 11 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง คิดเป็นมูลค่า 47 ล้านบาทต่อปี เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำประปาและน้ำอุปโภคบริโภคคิดเป็นมูลค่า 122 ล้านบาทต่อปี และยังช่วยส่งน้ำรักษาระบบนิเวศท้ายน้ำ 7.0 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อเดือนในช่วงหน้าแล้งอีกด้วย

ส่วนแผนบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรังตอนล่างระยะเร่งด่วนมีแผนงานก่อสร้างโครงการ ปตร. พร้อมอาคารประกอบการพัฒนาบึงน้ำทรง งบประมาณ 120 ล้านบาทเพื่อเพิ่มการระบายน้ำและส่งน้ำให้พื้นที่เกษตร 5,000-7,000 ไร่ ช่วยเหลือพื้นที่ตำบลน้ำทรง อำเภอพยุหะครี จังหวัดนครสวรรค์ และเติมน้ำแม่น้ำสะแกกรัง โครงการพัฒนาบึงขุมทรัพย์ งบประมาณ 200 ล้านบาทช่วยเพื่อการอุปโภคบริโภค 200 ครัวเรือน การเกษตร 3,000 ไร่ในพื้นที่ตำบลเกาะเทโพ อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี การปรับปรุงคลองหอมจันทร์ งบประมาณ 60 ล้านบาท เตรียมเสนองานปี 2566 เพื่ออุปโภคบริโภค 70 ครัวเรือน การเกษตร 2,000 ไร่ในพื้นที่ตำบลน้ำทรง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ และงานฝายหัวงานและอาคารประกอบโครงการฝายยางบ้านวังสาธิต งบประมาณ 135 ล้านบาทช่วยเหลือพื้นที่เกษตร 2,500 ไร่ในพื้นที่บ้านวังสาธิต ตำบลหนองไผ่แบน อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้วางแนวทางการดำเนินการในระยะต่อไปอีกด้วย โดยเตรียมเสนอแผนงานโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมการพัฒนาแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี นครสวรรค์ และกำแพงเพชร ให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 นี้ พร้อมเชื่อมั่นว่าการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำและน้ำท่วมของลุ่มน้ำสะแกกรังอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีแหล่งกักเก็บน้ำที่เพียงพอรองรับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“กรมชลประทานจะเร่งรัดการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นปากแม่น้ำสะแกกรังให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้ตามแผนที่กำหนด พร้อมทั้งเร่งรัดงานก่อสร้างฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำสะแกกรัง ตำบลน้ำซึม อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามข้อสั่งการของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยฝายดังกล่าวมีระดับน้ำเก็บกักที่สันฝายอยู่ที่ระดับ+14.50 ม.รทภ. อัตราการระบายน้ำผ่านฝายสูงสุดประมาณ 850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หากแล้วเสร็จจะช่วยกักเก็บน้ำสำหรับการเกษตรได้ 2,000 ไร่ และช่วยเหลือการอุปโภคของประชาชนได้ 1,270 ครัวเรือน” รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว