เตรียมยกร่างมาตรฐานถั่วเขียว เปิดเวทีหารือนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการ เพื่อหาแนวทางปฏิบัติเพื่อให้เป็นที่ยอบรับในเวทีการค้าระหว่างประเทศ

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง ถั่วเขียว จัดโดยสำนักกำหนดมาตรฐาน เพื่อเปิดเวทีให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน (ผู้ส่งออก ผู้ตรวจสินค้า) ผู้ทรงคุณวุฒิ สภาเกษตรกรแห่งชาติ มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญ รวมกว่า 60 คน หารือในเรื่อง การกำหนดคุณลักษณะของมาตรฐานถั่วเขียว เช่น ความชื้น ขนาดเมล็ด สิ่งปลอมปน สารพิษตกค้าง การบรรจุภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค รวมถึงคุณภาพ เกณฑ์ความปลอดภัยสินค้าเกษตรของถั่วเขียว เพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณาแก้ไขร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง ถั่วเขียว ให้อยู่ในแนวทางที่เหมาะสม นำไปปฏิบัติได้ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ณ โรงแรม ริชมอนด์ สไตล์ลิช คอนเวนชั่น จังหวัดนนทบุรี

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ถั่วเขียว เป็นพืชที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอาหารหลายประเภท ปริมาณผลผลิตที่ใช้ในประเทศจึงไม่เพียงพอกับความต้องการ ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ ประกอบด้วย ถั่วเขียว ที่มีคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของท้องตลาดมากขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีนโยบายจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งครอบคลุมทั้งข้อกำหนดสำหรับสินค้าเกษตรแต่ละชนิด และเกณฑ์กำหนดสำหรับระบบการผลิต รวมถึงการตราพระราชบัญญัติสินค้าเกษตร พ. ศ. 2511 เพื่อส่งเสริมให้สินค้าเกษตรของไทยมีคุณภาพได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคในประเทศ และสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

มกอช. จึงเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน (ผู้ส่งออก ผู้ตรวจสินค้า) ผู้ทรงคุณวุฒิ สภาเกษตรกรแห่งชาติ มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญ ร่วมหารือในประเด็นที่เป็นองค์ประกอบต่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร ถั่วเขียว คือ 1. คุณภาพของถั่วเขียว เช่น ความชื้น กลิ่น สีของเมล็ด สิ่งแปลกปลอม เมล็ดเสีย หรือเมล็ดแตก 2. ขนาดของเมล็ดถั่วเขียว 3. การบรรจุหีบห่อ 4. การแสดงฉลากและเครื่องหมาย 5. สารปนเปื้อน 6.สารพิษตกค้าง 7. สุขลักษณะ 8. การชักตัวอย่าง เป็นต้น เพื่อยกระดับการผลิต ดังนั้น การกำหนดมาตรฐานสินค้าสำหรับถั่วเขียว สามารถเป็นเครื่องมือช่วยส่งเสริมให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้อ้างอิง หรือเป็นเกณฑ์ควบคุมคุณภาพ และความปลอดภัยของสินค้าถั่วเขียว โดยให้สอดคล้องอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และแนวทางของมาตรฐานสากล เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าระหว่างประเทศ สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

“ร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร ถั่วเขียวนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการวิชาการพิจารณาร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องถั่วเขียว เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้มาตรฐานฯ เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย และมีความโปร่งใส สามารถนำไปใช้ได้อย่างกว้างขวาง การรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงร่างมาตรฐานดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เกิดประโยชน์สูงสุด ก่อนประกาศเป็นมาตรฐานของประเทศต่อไป” นางเสริมสุข กล่าว