โรงเรียนบ้านเหล่า แพร่ จัดกิจกรรมการเรียนการสอนศาสตร์ของพระราชา ประสบผลสำเร็จ ได้รางวัลที่ 1

เด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ผู้ใหญ่วันนี้มีคุณภาพต้องเริ่มปลูกฝังคุณภาพมาตั้งแต่เด็ก ให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งกายและจิตใจ โดยเฉพาะเด็กในวัยเรียนตามหลักสูตรภาคบังคับควรเริ่มที่บ้านและโรงเรียน

ที่โรงเรียนบ้านเหล่า (รัฐราษฎร์บำรุง) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแพร่ เขต 2 ตำบลเวียงต้า อำเภอลอง จังหวัดแพร่ โทร. (054) 656-591 ได้ดำเนินการขับเคลื่อนกิจกรรมทั้งด้านเศรษฐกิจ (การเกษตร) สังคม (กลุ่ม) และสิ่งแวดล้อม ปลูกฝังให้กับเด็กนักเรียนได้รับการบ่มเพาะจิตใจให้เกิดความรักในอาชีพเกษตร มีการวัดผลคุณภาพทางกายและจิตใจอย่างเป็นรูปธรรม จนประสบผลสำเร็จ ได้รับรางวัลชนะเลิศที่ 1 กลุ่มยุวเกษตรกร ปี 2560 ของระดับเขตภาคเหนือตอนบน จากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ และได้รับรางวัลที่ 3 ระดับประเทศ ปี 2561 เป็นรางวัลที่บ่งบอกว่าโรงเรียนแห่งนี้ต้องมีกิจกรรมการเรียนการสอนดีๆ ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ น่านำไปเป็นแบบหรือแบบอย่างแก่โรงเรียนอื่นๆ

“ผมได้ไปศึกษา ดูให้เห็นจริง รับรู้ข้อมูล ซักถามประเด็นต่างๆ จนแน่ใจว่าโรงเรียนนี้มีการสอนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ จากการนำศาสตร์ของพระราชาด้านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (โรงเรียนได้จัดห้องแสดงนิทรรศการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และนิทรรศการศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยการนำของผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานทั้งภาคราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน ผมจึงขอนำมาถ่ายทอด เผยแพร่แก่ท่านผู้อ่าน ท่านผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งช่วงเปิดเทอมปีการศึกษาต่อไป หากได้มีการนำแบบอย่างดีๆ ไปปรับใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ได้ผลเป็นที่ประจักษ์ คุณภาพของเด็กไทยในวันนี้ที่ต้องเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า จะเป็นประชากรที่มีคุณภาพ”
ได้พบและสนทนากับผู้อำนวยการ (ผอ.) โรงเรียนบ้านเหล่า คือ ผอ.ชาญณรงค์ จันทร์ป้อม และคณะครู

ผอ.ชาญณรงค์ จันทร์ป้อม (ขวามือ) และผู้เขียน

ก่อนที่ ผอ.ชาญณรงค์ จะพาไปชมกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน ผอ.ชาญณรงค์ ได้ให้ข้อมูลว่าโรงเรียนบ้านเหล่า จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2482 เป็นเวลา 79 ปีมาแล้ว ปัจจุบันมีนักเรียน 247 คน อนุบาล 36 คน ประถมศึกษา 141 คน และมัธยมศึกษาตอนต้น 70 คน คณะครูประกอบด้วยผู้อำนวยการโรงเรียนและครู 12 คน จำนวนเนื้อที่ของโรงเรียนทั้งหมด 41 ไร่ แบ่งเนื้อที่จัดกิจกรรมทางการเกษตร 10 ไร่

การจัดให้มีกลุ่มยุวเกษตรกรนั้น ผอ.ชาญณรงค์ บอกว่า ได้ก่อกำเนิดมาก่อนปี พ.ศ. 2540 แต่มาจดทะเบียนเมื่อปี พ.ศ. 2540 และท่านได้มาต่อยอดกิจกรรมสร้างพลังให้เด็ก ผนวกกับแนวคิดใหม่ในการปลูกฝังเรื่องประชาธิปไตย เพื่อให้กลุ่มยุวเกษตรกรมีพลังมาขับเคลื่อนโดยการประยุกต์ศาสตร์ของพระราชาด้านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมด้านการเกษตร เพื่อนำผลผลิตเข้าโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เหลือก็แบ่งปันให้แก่นักเรียนนำกลับบ้านหรือส่งต่อสหกรณ์โรงเรียน เพื่อจำหน่าย ขายให้แก่ผู้ปกครอง

นิทรรศการ
ศูนย์การเรียนรู้

นอกจากนี้ ผอ.ชาญณรงค์ ยังบอกว่า กิจกรรมต่างๆ ที่ได้ดำเนินการอยู่นั้นจัดอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ การงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี มีการจัดทำเป็นคู่มือการจัดการเรียนรู้เป็นรูปเล่มทุกกิจกรรม ซึ่งสอดรับกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการทั้งหลักสูตร นโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ แต่เบื้องหลังต้องการให้เด็กนักเรียน ได้เรียนรู้ รู้จักคิดวิเคราะห์ ฝึกปฏิบัติกระบวนการกลุ่มให้มีความเข้มแข็ง ด้วยกิจกรรมต่างๆ ด้านการเกษตรอย่างครบวงจร ฝึกการเป็นผู้ผลิต แปรรูปและขายเอง ได้รับองค์ความรู้ประสบการณ์ไปใช้ในชีวิตจริงหรือเล่าประสบการณ์ให้แก่ผู้ปกครองหรือเกษตรกรในชุมชนได้

กลุ่มยุวเกษตรกร เป็นกลุ่มที่ประสบผลสำเร็จเป็นหน้าเป็นตาให้แก่โรงเรียนบ้านเหล่า ผอ.ชาญณรงค์ ได้ให้รายละเอียดถึงกิจกรรมและกระบวนการขับเคลื่อนของกลุ่มยุวเกษตรกรว่า กลุ่มยุวเกษตรกรมีสมาชิก 70 คน เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา แต่ปีการศึกษาต่อไปจะเปิดโอกาสให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาเข้าเป็นสมาชิก โดยนักเรียนต้องกรอกใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกทุกคน

วัตถุประสงค์ ของกลุ่มยุวเกษตรกร ผอ.ชาญณรงค์ บอกว่า เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และกระตุ้นให้นักเรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญ ความภาคภูมิใจในคุณค่า และการมีทัศนคติที่ดีของอาชีพการเกษตร ทั้งมีใจรักในอาชีพโดยมีเป้าหมายหลัก คือการขับเคลื่อนโครงการอาหารกลางวันคู่ขนานกันไปด้วย
ส่วนวิธีการดำเนินการของกลุ่มยุวเกษตรกรให้นักเรียนได้เรียนรู้จากการลงมือทำจริง และขยายผลให้นำกลับไปทำต่อ หรือต่อยอดในครอบครัวและชุมชน ตลอดจนให้เป็นความรู้ติดตัวไปใช้ในอนาคตได้

การเรียนการสอน ใช้เวลาจากการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ สัปดาห์ละ 3 วัน ให้มีการเรียนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติในแปลงเกษตรไปพร้อมกัน ทั้งด้านการบริหารจัดการ การวางแผน การทำงานกลุ่ม ด้วยรูปแบบพี่สอนน้อง ที่สืบทอดการปฏิบัติต่อๆ กันมา ประกอบด้วยกิจกรรม ด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง เคหกิจเกษตร โดยมีครูที่ปรึกษา คือ ครูมีชัย ฟุ่มเฟือย ซึ่งท่านได้รับรางวัลชนะเลิศที่ 1 ครูที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรดีเด่น ปี พ.ศ. 2560 เป็นผู้กำกับดูแลและให้คำแนะนำ

การบริหารจัดการ กลุ่มยุวเกษตรกรมีการจัดโครงสร้างเป็นลักษณะองค์กรกลุ่ม มีการรับสมาชิก มีการเลือกตั้ง มีการประชุม การแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในรูปของคณะกรรมการ มีวาระการดำรงตำแหน่ง มีการแบ่งกลุ่มย่อยตามกิจกรรมหรือฐานเรียนรู้ มีกฎกติกาข้อบังคับ ซึ่งเป็นการจัดโครงสร้างและการบริหาร คล้ายคลึงกับสหกรณ์โรงเรียน
พื้นที่แปลงเกษตรของโรงเรียน ได้แบ่งไว้อย่างลงตัวทั้งนาข้าว แปลงผัก ไม้ผล บ่อปลา ปศุสัตว์ โรงผลิตสารชีวภัณฑ์ โรงเพาะเห็ด

ด้วยพื้นที่ของโรงเรียนเป็นดินทรายและกรวด มีสภาพเป็นกรด ทางครูที่ปรึกษาได้ดำเนินการปรับสภาพดิน โดยใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก โดโลไมท์ ส่วนพื้นที่ลาดเอียงปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวกั้นกันหน้าดินถูกชะล้างเมื่อฝนตกและเป็นการอนุรักษ์ดิน นอกจากนี้ ภายในแปลงเกษตรมีการใช้ปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีที่ผลิตขึ้นเอง

กลุ่มยุวเกษตรกรได้ใช้พื้นที่ทั้งหมดลงปฏิบัติในแปลงเป็นฐานเรียนรู้ด้วยกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

กิจกรรมด้านพืช

เพาะเห็ด

กิจกรรมที่ 1 การเพาะเห็ด
ฝึกเด็กนักเรียนได้เรียนรู้ในเรื่องเห็ด ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร การดูเห็ดมีพิษ-ไม่มีพิษ วงจรชีวิตของเห็ด ขั้นตอนการเพาะเห็ด การเก็บเห็ด การแปรรูปเห็ด ใช้เห็ดนางฟ้าภูฏานเป็นฐานเรียนรู้

กิจกรรมที่ 2 การปลูกไม้ผล
เรียนรู้และฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการเตรียมดิน การปลูก การดูแลไม้ผล การเก็บผลผลิต การแปรรูป โดยปลูกกล้วยน้ำว้าเป็นไม้ผล

กิจกรรมที่ 3 การปลูกผักปลอดสารพิษ
ให้ความรู้เรื่องผักปลอดสารพิษ ไร้สารพิษ ผักอินทรีย์ การเลือกเมล็ดพันธุ์ การเพาะเมล็ดพันธุ์ การเตรียมดิน การปลูกและการดูแล การใช้สารไล่แมลงที่ผลิตขึ้นเอง ใช้ผักตามฤดูกาลและที่มีคุณค่าทางอาหารเหมาะสมกับวัยเด็กเป็นฐานเรียนรู้

กิจกรรมการลงแปลงปลูกข้าว (ไรซ์เบอร์รี่) ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ต้องการฝึกทักษะให้แก่นักเรียน ตั้งแต่การเตรียมแปลง การปลูก การดูแลโรคและแมลง การเก็บเกี่ยว การนวดข้าว

กิจกรรมที่ 4 การขยายพันธุ์พืช

เรียนรู้เรื่องการขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การตอน การเพาะเมล็ด การเสียบยอด ติดตา ปักชำ เสียบข้าง เป็นต้น การเลือกกิ่งพันธุ์ ฝึกปฏิบัติการตอนกิ่งมะนาวด้วยอุปกรณ์การตอน การใช้กะปิเป็นตัวประสานแทนน้ำยาเร่งราก

กิจกรรมด้านปศุสัตว์

เลี้ยงไก่

กิจกรรมที่ 5 การเลี้ยงไก่ไข่
เรียนการวางแผนการเลี้ยง คุณค่าทางอาหารของไข่ สายพันธุ์ไก่ โรงเรือนที่ดี การเลี้ยงและดูแลในรูปแบบไก่อารมณ์ดีเพราะเปิดวิทยุให้ไก่ฟัง โรคและการป้องกันรักษา สูตรอาหารและการให้อาหาร การเก็บและรักษาไข่

เลี้ยงเป็ด

กิจกรรมที่ 6 การเลี้ยงเป็ด
เด็กๆ ได้เรียนรู้สายพันธุ์เป็ด ฝึกปฏิบัติการดูแลเป็ด การให้อาหารและสูตรอาหาร โรค การเก็บไข่ การแปรรูป โดยใช้เป็ดเทศ ให้นักเรียนฝึกปฏิบัติ

กิจกรรมด้านประมง

เลี้ยงปลา

กิจกรรมที่ 7 การเลี้ยงปลา
เรียนรู้เรื่องปลาชนิดต่างๆ การเลี้ยงปลาในบ่อดิน ปลาที่เลี้ยงอยู่ระหว่างการทดลองเพื่อศึกษาความเหมาะสมกับท้องถิ่น ได้แก่ ปลาดุก ปลาช่อน ปลาทับทิม ปลาตะเพียน ปลาสวาย ปลาหมอ ปลาบึก

กิจกรรมด้านการผลิตสารชีวภัณฑ์

กิจกรรมที่ 8 การผลิตน้ำส้มควันไม้
ให้ความรู้เรื่องประโยชน์ การนำไปใช้ ขั้นตอนการสร้างเตาเผาและการได้มาซึ่งน้ำส้มควันไม้

กิจกรรมที่ 9 ธนาคารจุลินทรีย์
ฝึกทักษะการทำน้ำหมักชีวภาพสูตรต่างๆ จากเศษพืช สัตว์ เศษอาหาร ผลไม้ที่ให้ความหวาน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรในแปลงปลูก

กิจกรรมด้านเคหกิจเกษตร

กิจกรรมที่ 10 การแปรรูป
เรียนรู้ประเภทของการแปรรูป การแปรรูปอาหารท้องถิ่น ใช้กล้วยน้ำว้าแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กล้วยฉาบ กล้วยทอด เป็นต้น

โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เป็นนโยบายของโรงเรียนที่ต้องการให้นักเรียนได้รับสารอาหารตามหลักโภชนาการ ซึ่งทางกลุ่มยุวเกษตรกรของโรงเรียนได้ผลิตวัตถุดิบขึ้นเอง หมุนเวียนกันไปในแต่ละวันของฤดูกาลทั้งวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โปรตีนจากพืชและสัตว์ วิตามิน แร่ธาตุต่างๆ จากผักผลไม้ และเพิ่มเติมอาหารเสริมด้วยน้ำเต้าหู้ (นอกเหนือจากนมโรงเรียน) เครื่องดื่มน้ำผลไม้ในบางโอกาส

ผอ.ชาญณรงค์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ให้ความสำคัญในเรื่องคุณค่าทางอาหารที่เด็กๆ จะได้รับแต่ละวัน จึงได้ศึกษาข้อมูลและนำรายการอาหารตรวจสอบจาก Thai School Lunch Program เป็นโปรแกรมอัจฉริยะของ สวทช. ช่วยครูคิดรายการอาหารแต่ละเมนู (Menu) ของเด็กนักเรียนแต่ละช่วงชั้นว่ามีสารอาหารที่ขาดหรือเกินอย่างไร ได้แก่ รายการอาหารข้าวผัด ผัดไทย พะโล้ แกงเขียวหวาน ต้มข่าไก่ ต้มจืด ฯลฯ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบของการปรุงอาหารกลางวันที่ทางโรงเรียนจะจัดไว้ให้อย่างดีที่สุด เพื่อสุขภาพกายของนักเรียน”

มี 2 คำถามจากผม ถามกับ ผอ.ชาญณรงค์ ว่าในทัศนะของ ผอ. ตัวชี้วัดความสำเร็จของกิจกรรมที่ทางโรงเรียนดำเนินการอยู่มีอะไรบ้าง ผอ.ชาญณรงค์ ตอบว่า
1. คุณภาพของอาหารที่คำนึงถึงสุขภาพของเด็กในวัยเรียน รายการอาหารผ่านการพิจารณาตรวจสอบตามหลักโภชนาการอย่างดีแล้ว
2. พฤติกรรมของเด็กในการร่วมกิจกรรมและการแสดงออกว่าเขามีความสุขจากการทำงานร่วมกัน รักงาน มีความเสียสละ แบ่งปัน

กับอีกคำถามหนึ่งว่าในอนาคต ผอ.จะต่อยอดกิจกรรมหรือไม่ อย่างไร
“ต้องการให้นักเรียนฝึกทักษะทำการผลิตจากแปลงปลูกเป็นเชิงพาณิชย์ ใช้เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร หรือสื่อออนไลน์ ทำการตลาด ส่วนแปลงเกษตรวางแผนไว้ว่าจะนำเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำด้วย ระบบ digital delay timer ในโรงเพาะเห็ด การตรวจสอบอุณหภูมิความชื้น ตั้งเวลาปิด-เปิด น้ำแบบอัตโนมัติ และปรับปรุงการปลูกผักในโรงเรือน เน้นการปลูกแบบอินทรีย์”

สภาพของโรงเรียน

บุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่ง คือ ครูมีชัย ฟุ่มเฟือย ครูที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร ได้กล่าวว่า ภารกิจของนักเรียนในแต่ละวันได้เรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติจริง โดยจะสลับกิจกรรมกันแต่ละสัปดาห์ สัปดาห์ละ 3 วัน แต่ในวันหยุดก็จะมีนักเรียนเวรมาทำหน้าที่รดน้ำผัก เก็บเห็ด เก็บไข่และให้อาหารไก่ กล่าวได้ว่าเมื่อนักเรียนจบจากโรงเรียนแห่งนี้ จะได้ความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่ดีทางด้านการเกษตรทั้ง 10 กิจกรรม

ได้พูดคุยกับตัวแทนกลุ่มยุวเกษตรกร ซึ่งแต่ละคนชี้แจงอธิบายหน้าที่ของตนได้อย่างชัดเจน พูดจาเสียงดังฟังชัด มีความเชื่อมั่นในการอรรถาธิบาย แล้วยังดูมีความสุขจากการได้แสดงออกร่วมสนทนากับผม

เด็กชายไชยวุฒิ ธิฟู นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 บอกว่า “ผมเป็นประธานกลุ่มยุวเกษตรกร ทำหน้าที่และรับผิดชอบการบริหารจัดการงานในกลุ่มและดูแลในฟาร์มโดยรวม ได้รับประสบการณ์ทางด้านการเกษตร มีความเห็นว่าอาชีพเกษตร จริงๆ แล้วไม่เหนื่อย ถ้าตั้งใจทำ จึงอยากจะบอกเพื่อนๆ นักเรียนว่า หันมาทำเกษตรในโรงเรียน จะได้มีอาชีพติดตัว” ถามว่าได้อะไรติดตัวไปใช้ในอนาคตบ้าง “การปลูกผัก การสร้างเตาเผาชีวมวล และการทำน้ำส้มควันไม้” เด็กชายไชยวุฒิ ตอบคำถาม

ทางด้าน เด็กหญิงสิตานัน ผัดหล้า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก็บอกว่า “ดิฉันเป็นรองประธานช่วยเหลืองานของประธานกลุ่ม การเข้าร่วมในกลุ่มยุวเกษตรกรได้ความรู้ไปต่อยอดการปลูกผัก การเพาะเห็ด การทำน้ำหมักชีวภาพ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและพ่อแม่”

นักเรียนอีกคนหนึ่ง เด็กหญิงจุฬาลักษณ์ แสนขัด นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เช่นกัน เล่าว่า ตนเองเป็นปฏิคม มีหน้าที่อำนวยความสะดวกต่างๆ ในกลุ่ม ได้ความรู้จากการเพาะเห็ด ปลูกผัก ปลูกกล้วย นำไปต่อยอดที่บ้านได้ อยากจะบอกกับเพื่อนๆ ว่า “การทำเกษตร หากมีใจรักแล้ว ทำแล้วก็มีความสุขดี จะไม่เหนื่อยเลย”

ผอ.ชาญณรงค์ สามารถประสานงานเชิญหน่วยงานภายนอกทั้งภาคราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการนำทรัพยากรเข้ามาสนับสนุนกิจกรรมของโรงเรียนและกลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแพร่ เขต 2 เกษตรจังหวัดแพร่ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดแพร่ สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัด ประมงจังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีแพร่ เกษตรอำเภอลอง ปศุสัตว์อำเภอ สถานีตำรวจภูธร โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เทศบาลตำบลเวียงต้า ห้างหุ้นส่วนจำกัดแพร่วิศวกรรม

หากท่านสนใจ ต้องการสอบถามรายละเอียดมากกว่าที่นำเสนอไป โปรดติดต่อ ผอ.ชาญณรงค์ จันทร์ป้อม โทร. (098) 748-2330