รอนิง ปาเนาะ กับธุรกิจขายส่งปลาทูสด ที่นราธิวาส

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และการฝึกประสบการณ์ในรายวิชาเครือข่ายและการจัดชุมชน สาขาเกษตรกรปราดเปรื่อง มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ เป็นวิชาที่อยู่ภายใต้การดูแลของ อาจารย์ ดร.ธนากร เที่ยงน้อย ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ลงไปสัมผัสกับชุมชน สร้างประสบการณ์การเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้คนในชุมชน ในบทความนี้ผู้เขียนจึงมุ่งหน้ากลับบ้านที่จังหวัดนราธิวาสเพื่อพูดคุยกับผู้มากประสบการณ์ในพื้นที่แล้วนำมาเขียนเสนอเป็นเรื่องราวให้ผู้อ่านทุกท่านสัมผัสผ่านบทความนี้

คุณรอนิง ปาเนาะ หรือ แบนิง ขวัญใจแก้ว

จากเด็กยากจนต่อสู้

จนวันนี้เป็นพ่อค้าปลาทูขายส่งต่างประเทศ

ผู้เขียนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้สัมภาษณ์พูดคุยกับเกษตรกรชาวประมงและพ่อค้าปลาทูที่จังหวัดนราธิวาส คือ คุณรอนิง ปาเนาะ หรือ แบนิง ขวัญใจแก้ว ซึ่งเป็นชื่อที่คนทั่วไปรู้จักกัน คุณแบนิงเป็นพ่อค้าคนกลางรับ-ส่งปลาทูทั้งในประเทศและต่างประเทศ คุณแบนิงได้เล่าว่า

“ผมในช่วงอายุวัยรุ่นฐานะยากจนมาก ยากจนมากขนาดที่ไม่มีที่นอน ต้องอาศัยใต้ถุนเพื่อนบ้านนอน และด้วยการที่ผมเป็นพี่ชายคนโตมีน้องทั้งหมด 8 คน หนึ่งในนั้นมีน้องชายซึ่งเป็นผู้พิการ ผมจึงเป็นเสาหลักของครอบครัว คุณพ่อของผมไม่ได้ทำงาน ส่วนคุณแม่ของผมมีอาชีพขายผักตามตลาดทั่วไป ขายได้วันละไม่กี่บาท ทำให้ผมต้องดิ้นรนหางานทำ ผมทำงานมาแล้วหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รับจ้างขับรถขนส่ง เป็นลูกจ้างรับ-ส่งปลา เป็นต้น เพื่อที่จะทำให้ครอบครัวได้มีอยู่ มีกินในทุกๆ วัน”

ช่วงที่คุณแบนิงรับงานหลายๆ อย่าง ได้มีเงินมาก้อนหนึ่งจึงตัดสินใจลงทุนรับ-ส่งปลาทูด้วยตนเอง จนได้กำไรหลายเท่าตัว เป็นจุดเริ่มต้นของอาชีพพ่อค้าปลาทูขายส่ง มาจนถึงทุกวันนี้

แพ็กปลาทูใส่กระบะพลาสติก ใส่น้ำแข็งเพื่อรักษาความสด
ปลาทูสดจากทะเล

สู่การเป็นเจ้าของธุรกิจขายส่งปลาทู

ก่อนที่จะเริ่มทำธุรกิจขายส่งปลาทู คุณแบนิงเคยเป็นลูกจ้างของเถ้าแก่ขายส่งปลามาก่อนจนได้รู้วิธีการส่งออกปลาและได้รู้จักสนิทสนมกับลูกค้าประจำที่มาซื้อปลา จึงตัดสินใจลงทุนทำเป็นธุรกิจขายส่งปลาทูของตัวเองจนถึงปัจจุบันนี้ คุณแบนิง เล่าว่า งานประจำของธุรกิจขายส่งปลาทูจะเริ่มต้นตั้งแต่ช่วง 6 โมงเช้า เริ่มออกเดินทางไปรับปลาที่ท่าเทียบเรือปัตตานี เมื่อถึงที่นั่นแล้วก็จะติดต่อประสานงานกับเถ้าแก่เจ้าของปลาเจ้าประจำเพื่อขอซื้อปลา ขอรายละเอียดปริมาณและคุณภาพของปลาในล็อตนั้นๆ หลังจากทราบปริมาณปลาทูที่จะซื้อผมจะต้องติดต่อไปยังโรงงานน้ำแข็งเพื่อสั่งซื้อน้ำแข็งในปริมาณที่เหมาะกับปลาที่เราจะซื้อ ให้โรงงานเอาน้ำแข็งมาส่งให้เรา หลังจากนั้นจะโทร. ติดต่อหาลูกน้องของตัวเองมาเพื่อที่จะมาขนปลาของเราขึ้นรถกระบะ”

หลังจากนั้นคุณแบนิงก็จะเข้าไปเช็กคุณภาพของปลาทูที่จะซื้อ เพื่อตรวจสอบความสด ขนาด และน้ำหนักของปลาทูว่าจะได้ตามที่ลูกค้าต้องการหรือไม่ หากปลาทูล็อตนั้นได้คุณภาพตามที่ต้องการ คุณแบนิงก็จะจ่ายเงินให้กับผู้จัดการของตัวเองเพื่อให้ผู้จัดการนำเงินไปจ่ายให้กับเถ้าแก่แพปลาเจ้านั้น รวมถึงนำเงินไปจ่ายค่าลูกจ้างขนปลาและค่าน้ำแข็งของโรงงานอีกด้วย

ปลาทูที่แพ็ใส่กระบะพลาสติก ใส่น้ำแข็งรอขนส่ง

ต้นทุน ตลาด และราคาของปลาทู

เพื่อให้ทุกท่านเห็นถึงต้นทุนในการจัดการปลาทูก่อนถึงมือผู้บริโภค จึงขออนุญาตเสนอขั้นตอนในการขนส่งปลาทูจากท่าเรือ ดังนี้

  1. เมื่อปลามาถึงนัดหมายที่ท่าเทียบเรือ ทางพ่อค้ารับซื้อจะต้องเตรียมน้ำแข็ง ลังพลาสติก และรถกระบะไว้ให้พร้อม
  2. ปูพลาสติกในกระบะรถ ใส่น้ำแข็งในลังพลาสติกให้ทั่ว
  3. เทปลาลงลังพลาสติกพร้อมโรยน้ำแข็ง
  4. เคาะลังพลาสติกเพื่อให้เกิดพื้นที่ว่างเพื่อที่จะใส่ปลาได้แน่นมากขึ้น จากนั้นก็ใส่น้ำแข็งชั้นบนเป็นขั้นตอนสุดท้าย
  5. ใช้ถุงพลาสติกใสคลุมลังพลาสติกแล้วมัดถุงพลาสติกใสให้แน่น จากนั้นก็ขนขึ้นรถกระบะเป็นอันเสร็จเรียบร้อย
  6. 6. เมื่อทำทุกขั้นตอนเสร็จเวลาประมาณ 01.00-02.00 น. ก็จะได้ออกจากท่าเทียบเรือปัตตานีมาส่งให้กับลูกค้าภายในตลาดจังหวัดนราธิวาส

คุณแบนิง กล่าวว่า ต้นทุนในการจัดการ การทำตลาดปลาทูนั้นสูงพอสมควร การที่ตลาดและลูกค้าต้องการปลาที่สด ใหม่ เราเองจะต้องใช้น้ำแข็งเยอะพอสมควร ฉะนั้นแล้วต้นทุนสูงจึงเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ราคาปลาทูปกติอยู่ที่ประมาณ 25-30 บาทต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับลักษณะของปลาว่าจะสวย มีขนาดใหญ่หรือไม่ ถ้าปลาทูล็อตนั้นสวย ขนาดใหญ่ ราคาขั้นสูงสุดจะอยู่ที่ 30 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเป็นปลาทูขนาดเล็กและไม่สด ราคาขั้นต่ำจะอยู่ที่ 25 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาของปลาทูจะอยู่ที่ความพึงพอใจของลูกค้าว่าปลาทูที่ต้องการเหมาะสมกับราคาที่ตั้งเอาไว้หรือไม่ ถ้าลูกค้าตกลงทั้งคุณภาพและราคา เราก็พร้อมจะจำหน่ายให้กับลูกค้าทันที

 

ธุรกิจขายส่งปลาทูไปตลาดต่างประเทศ

ลูกค้าปลาทูในต่างประเทศนั้นก็คือ ประเทศมาเลเซีย คุณแบนิง เล่าว่า ในช่วงไม่มีโควิด-19 จะขนส่งปลาทูโดยเรือส่วนตัวเพื่อขนข้ามฝั่ง แต่เมื่อช่วงโควิด-19 ระบาด ต้องทำการขนส่งผ่านด่านสุไหงโกลกและต้องส่งตัวแทนทางฝั่งมาเลเซีย 1 คนเท่านั้นมารับปลาทูสดของเรา ในช่วงก่อนโควิด-19 ปริมาณปลาทูสูงสุดที่ลูกค้าชาวมาเลเซียต้องการคือเจ้าละ 8 ตันต่อวัน หรือ 200 กระบะ ซึ่ง 1 กระบะน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 40 กิโลกรัม ราคาส่งอยู่ที่ประมาณ 22 บาทต่อกิโลกรัม กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะซื้อปลาทูไปทำข้าวเกรียบปลาขายส่งลูกค้า ซึ่งเขาจะเอาปลาสดจากเราเพื่อไปทำข้าวเกรียบ แต่ ณ ปัจจุบันนี้ ผมขายให้ลูกค้ามาเลเซียได้แค่ 50-100 กระบะต่อเจ้า ช่วงนี้ลูกค้าไม่ค่อยสั่งสาเหตุหนึ่งมาจากการที่ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียแข็งค่าขึ้น อีกสาเหตุมาจากการที่ประเทศมาเลเซียมีเรือประมงมากขึ้น เครื่องมือทำประมงเยอะขึ้น จึงทำให้ในประเทศของเขาจับปลาได้เยอะกว่าประเทศเรา และปลามีราคาถูกกว่าประเทศเรา นอกจากในบางช่วงที่ประเทศเขาขาดแคลนปลา จึงจะมาซื้อในประเทศเรา

รถที่ใช้ขนส่งปลาทู

กำไรไม่มากแค่พอเลี้ยงครอบครัว

คุณแบนิง กล่าวว่า ธุรกิจค้าส่งปลาทูไม่ได้ทำกำไรต่อวันมากมายนักแต่ก็ยังเป็นอาชีพที่สามารถหาเลี้ยงครอบครัวและส่งเสียให้ลูกๆ ได้เรียนได้ สมมุติว่า วันนี้ลูกค้าต้องการปลาทู 100 ลังพลาสติก ต้นทุนทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 80,000 บาท หักค่าน้ำแข็ง ค่าถุง ค่าจ้างต่างๆ เรียบร้อย พ่อค้าคนกลางจะได้กำไรประมาณเพียงแค่ไม่กี่บาทต่อวัน แต่ผมยึดมั่นการทำธุรกิจทางด้านเกษตรหรือด้านประมงที่เราต้องใช้ความอดทน ซื่อสัตย์ และยอมรับความเสี่ยงในการทำธุรกิจให้ได้ ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจตกต่ำทำธุรกิจตกต่ำไปด้วย เราจึงต้องรับมือความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจประเทศไทยให้ได้ เพื่อจะประคับประคองให้ธุรกิจของเราอยู่ได้ ลูกน้องอยู่ได้ ครอบครัวของเราอยู่ได้

ท่านใดที่สนใจข้อมูลการค้าส่งปลาทูหรืออยากจะติดต่อ คุณรอนิง ปาเนาะ หรือ แบนิง ขวัญใจแก้ว สามารถโทรศัพท์ติดต่อไปได้ที่เบอร์ 061-198-0024